Update Newsสกู๊ปพิเศษ

SACICT พาตามรอย งานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้ (ตอน 1 )

การเดินทางตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทย ถิ่นอีสานใต้ เริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 24-25 พค.ที่ผ่านมา โดยการนำของผอ.อัมพวัน พิชาลัย SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ณ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ เพื่อให้คณะสื่อมวลชนได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงจากผลงาน เทคนิค หัตถศิลป์ที่หลากหลายจากครูช่างศิลป์ และทายาทช่างศิลป์ ที่นับวันจะหาผู้สืบสานได้ยากยิ่ง
ตามรอยบรมครูเชิงช่าง




.... ผอ.อัมพวัน เล่าว่า ....งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จึงลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา

SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมผลงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน โดยดำเนินการสืบค้นและให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคผู้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมทายาทช่างศิลปหัตถกรรม


ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่คุณค่าของผลงานหัตถศิลป์สู่ผู้สนใจในงานศิลปะหัตถกรรมทั้งเยาวชนและสาธารณชนได้รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของครูช่างเหล่านี้ไว้ ได้รู้จักอย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปะฯ ของครูช่างเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งความรู้แม่แบบ เพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังสืบต่อไป”


“การจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนเดินทางตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้นี้ SACICT ได้รวบรวมสุดยอดงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่า โดยฝีมือครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ในหลากหลายสาขา เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ชื่นชม เรียนรู้วิธีการ เทคนิค การสร้างสรรค์งานเครื่องเงิน งานทอผ้าโฮล และผ้าซิ่นตีนแดง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หาดูได้ยากของอีสานใต้” ผอ.อัมพวันกล่าว

งานเครื่องเงินสองวัฒนธรรม


และก็มาถึงสถานที่แรกที่ SACICT พามารู้จักกับ ครูช่างจังหวัดสุรินทร์ “ครูป่วน เจียวทอง” ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2552 และ”คุณเพชรรัตน์ เจียวทอง” ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี 2559 งานช่างเครื่องโลหะสุรินทร์ ที่ตำบลเขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ ที่ที่โดดเด่นเรื่องความวิจิตรของลวดลายเครื่องเงินที่ผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมเขมร









ทั้งครูป่วนและลูกสาว รอคอยต้อนรับผู้มาเยือนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ก่อนจะเริ่มเล่าถึงความเป็นมาให้ฟังพร้อมกับโชว์ชิ้นงาน ที่มีหลักร้อยไปจนถึงหลักแสน

“งานที่ทำจะเป็นประเกือมหรือประคำ(งานแผ่น) เป็นการหลอม เทรางตามขนาดแล้วตีแผ่จนได้เท่านาด นำมารีดให้บางจนได้ขนาดแล้ววัดตัดตามขนาด เอาไปม้วนด้วยไม้ไผ่ แล้วเชื่อมประสานตีขึ้นรูป อัดชัน แล้วกดลาย ถ้าเป็นงานโบราณจะมีลายกลีบบัว ลายดอกจันทร์ บัวคว่ำ บัวหงาย

และสอง รีดเป็นแผ่น ตัดตามแบบแล้วเอามาพับตามแบบหรือม้วนตามแบบเชื่อมติดอัดชันแล้วกดลายเช่น แมงดา กรวย ไข่แมงมุม หมอนสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม

“.... ลวดลายได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเลียนแบบธรรมชาติ อย่างลายรังผึ้ง รังแตน รังหอกโปร่ง รังหอกปิด ดอกปลึก

ตะเกา(เป็นงานลวด)โดยการรีดเงินเป็นเส้น แล้วเอามาดึงด้วยแป้นให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ นำมาดีดโดยใช้ไม้ดัดที่ทำขึ้นเอง แต่ละลายจะไม่เหมือนกัน เมื่อได้จำนวนต้องการแล้วจึงตัดเอาลายมาเชื่อมติดกัน บีบปลายทำเป็นกลีบดอก”ทายาทครูป่วนเล่าให้ฟัง  

 “เครื่องประดับเงินโบราณเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง น้อยคนนักจะหันมาสนใจและสืบทอด” ครูป่วน ผู้ที่ชื่นชอบงานทำเครื่องเงินมาตั้งแต่อายุ 13 กล่าว

ผลงานประเกือม หรือ ประคำ  เป็นศิลปหัตถกรรมที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ในเรื่องความกลมกลืนได้ดุลยภาพ ครูมีความเชี่ยวชาญพิเศษในการทำ ตะเกา หรือ ต่างหู โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างลายสร้างสรรค์ลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ มีชื่อเสียงเลื่องลือในด้านความละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันครูยังคงถ่ายทอดความรู้ในการทำเครื่องเงินให้แก่สมาชิกในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานที่ทรงคุณค่า ที่ควรได้รับการดูแลรักษาเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป








“ป่วน” ชื่อที่ถูกใส่เอาไว้ เป็นการการันตีว่าของแท้

(อ่านต่อตอนจบ)