SACICT ลงพื้นที่ดูงานด้านการทอผ้าพื้นเมือง”ภูฏาน”
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศนำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่งานทอผ้า ประเทศภูฏาน เพื่อศึกษาดูงานเก็บข้อมูลในการผสานความร่วมมือด้านศิลปหัตถกรรมไทย ในโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการทอผ้าพื้นเมืองกับภูฏาน ประเทศภูฏานนั้นเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ทั้งทางศิลปวัฒนธรรมประเพณี ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน รวมทั้งวัฒนธรรมการแต่งกาย ชุดที่ชาวภูฏานสวมใส่นั้นจะทำมาจากผ้าเพียงผืนเดียว ซึ่งเป็นการเลียนแบบเครื่องแต่งกายของพระสงฆ์ กลุ่มสตรีทอผ้าของภูฏาน ส่วนใหญ่ใช้วิธีการทอแบบกี่เอว (Backstrap Loom) ซึ่งเป็นการทอด้วยเครื่องทอขนาดเล็ก โดยใช้เข็มขัดคาดหลัง ที่ทำด้วยผ้า แผ่นหนัง หรือเชือกที่มีความแข็งแรง แตกต่างจากการทอผ้าทั่วไปจะใช้เสาแข็งแรง 4 เสา เพื่อขึงเส้นด้ายยืนให้ตึง แต่การทอด้วยกี่เอวใช้การขยับเคลื่อนตัวของผู้ทอ บังคับเส้นด้ายยืนให้ตึงหรือหย่อนได้ตามต้องการ วิธีนี้ผู้ทอต้องใช้พลังมากมายในการทำให้เส้นด้ายที่ทอกระทบกันแน่น ผ้าที่ได้จากการทอแบบ Backstrap เป็นผ้าหน้าแคบแล้วนำมาเย็บต่อกันตามทางยาวคล้ายชาวกะเหรี่ยงทางภาคเหนือของไทย ชาวภูฎานนิยมนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายเป็นชุดประจำชาติ ของผู้ชายที่เรียกว่า “โก” หรือ “โค” (Gho / Kho / Go) ต้องเย็บต่อหน้าผ้าถึง 3 หน้าผ้าตลอดความยาวของผืน เพื่อให้ได้ความกว้างตลอดตัว ชุดโกมีกำเนิดมาจากธิเบต มีลักษณะเป็นชุดคลุมยาวเท่ากับหัวเข่าและมีผ้าคาดเอว ชุดของผู้ชายนั้นจะประกอบไปด้วยผ้าพาดไหล่ (Scarf) ที่ภาษาภูฏานเรียกว่า แกบเน (Kabney) เป็นผ้าผืนใหญ่สำหรับพาดที่ไหล่ด้านซ้ายคล้องลงมาที่สะโพกด้านขวา หากเป็นผ้านุ่งของสตรี ที่เรียกว่า “คีร่า” (Kira) ต้องใช้ 2 หน้าผ้า แม้ว่าปัจจุบันการทอผ้าแบบใช้กี่นั่งที่ใช้ขาเหยียบแบบที่ทอกันทั่วไปในประเทศไทยจะมีมากขึ้น แต่ขนาดของกี่ก็ยังแคบกว่าความกว้างสำหรับใช้เป็นผ้านุ่ง ด้วยวิธีการและเทคนิคที่ใช้ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลานานและมีราคาสูง ผ้าภูฏานนั้นถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากฝีมือการทอแล้ว วัสดุที่นำมาใช้มีความน่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ สีย้อมมาจากพืชธรรมชาติบนภูเขา นอกจากเส้นใยเป็นฝ้ายและไหมแล้ว ยังมีการนำเส้นใยขนสัตว์มาทอร่วมด้วย เช่น ผ้าที่ทอจากขนจามรีแทรกฝ้ายและไหมทำให้ผ้าที่ได้มีคุณค่าและราคาสูง