SACICT พาตามรอย งานศิลปหัตถกรรมไทยถิ่นอีสานใต้ (ตอนจบ)
ผ้าโฮลโบราณ เราเดินทางกันต่อไปยัง บ้านครูสุรโชติ ตามเจริญ เพื่อสัมผัสกับความวิจิตรของ งานผ้าโฮลแบบโบราณ ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ผ้ามัดหมี่โฮลถือเป็นลายเอกลัษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดสุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้น มาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลายต่างๆ ก่อน จึงนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม”ในภาษาไทยและคำว่า “มัดหมี่”ในภาษาลาวครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ผู้อนุรักษ์การทอผ้าโฮลแบบโบราณด้วยภูมิปัญญาชาวไทยเชื้อสายเขมรที่มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสีจากธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ช่วยให้สีติดสวยโดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขาม สีเหลือง ย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข จนได้เป็นสีเหลืองทองอร่ามตา และย้อมครามด้วยวิธีย้อมเย็น ทำให้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของผ้าโฮลที่มีสีสดสวย และลวดลายมัดหมี่ที่โดดเด่นของภาคอีสาน โดยรักษาเอกลักษณ์ของลวดลายกรวยเชิงลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์
![]()
![]()
ครูสุรโชติ ผู้สืบทอดองค์ความรู้การทอผ้าโฮล รุ่นที่ 3 เล่าว่า “จริงๆ ผมไม่ใช่คนสุรินทร์ แต่มาเป็นเขยสุรินทร์และเห็นคุณยายของภรรยาทอผ้าและมัดหมี่ลายผ้า ด้วยความคุ้นเคยในวัฒนธรรมการทำผ้าโฮลโบราณ จึงเกิดความสนใจที่จะเรียนรู้และเริ่มฝึกฝนการมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติจนชำนาญ จนหลงใหลและผูกพันในงานหัตถศิลป์ตามแบบดั้งเดิมนี้ โดยเริ่มสืบค้นลายผ้าเก่าจากพิพิธภัณฑ์ หนังสือผ้าโบราณเพื่อมารังสรรค์ผืนผ้าให้กลับมาอวดโฉมอีกครั้งเพื่อรักษามรดกภูมิปัญญานี้ไว้” ผ้าโฮลโบราณจะนำลวดลายของผ้าสมปักปูมแบบลายราชสำนักนำมามัดหมีและใช้วิธีการทอมากกว่า 1 กระสวย แตกต่างจากผ้าสมปักปูมในอดีตที่เป็นผ้ามัดหมี่ทอกระสวยเดียว ในอดีตผ้าสมปักปูมมีจุดเด่นอยู่ตรงลักษณะของลวดาย คือชายผ้าเป็นลายกรวยเชิง ซึ่งจำนวนชั้นของกรวยเชิงบ่งบอกถึงชั้นยศของขุนนาง ผู้ได้รับผ้าบรรดาศักดิ์นี้บริเวณกรอบผ้าเป็นลายสังเวียนและลายช่อแทงฆ้อง ใช้สำหรับบุรุษนุ่ง เรียกว่า “โฮลเปราะห์” ลวดายที่โดดเด่นและได้รับความนิยม คือ ลายเรขาคณิต (ลายดั้งเดิมในผ้าสมปักปูม) ลายนคเกี้ยว ลายปีดาน (ผ้าเพดานในอดีต ใช้เป็นผ้ากั้นบนเพดานแสดงเขตระหว่างสงฆ์กับฆราวาส ลวดลายจะเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา) ด้วยความงดงามของผ้าโฮลเปราะห์ทำให้ได้รับความนิยม สตรีส่วนใหญ่จึงเกิดความต้องการจะหามาสมใส่จึงมีการทอแปลงลายเป็นลายริ้ว เรียกว่า “โฮลสะไรย์” หรือผ้าโฮลสตรี
![]()
ปัจจุบันที่บ้านครูสุรชาติ ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าโฮลโบราณ ซึ่งสร้างถักทอมาตั้งแต่สมัยร้อยกว่าปีในบางผืน และบางผืนเกิดจากแรงบันดาลใจของทายาทครูช่าง ลวดลายสมัยใหม่เป็นรูปสัตว์หลายชนิด เช่น เสือดำ พญานาค เป็นต้น
![]()
![]()
![]()
![]()
![]()
![]()
งานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) วันถัดมา ทาง SACICT ได้พาไปเยี่ยมชมงานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) ของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีความชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่จุดเด่น คือ เลี้ยงไหมและสาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมไทยพื้นบ้าน ใช้การสาวลงตะกร้าด้วยมือจนได้รับพระราชทาน ตรานกยูงทองจากกรมหม่อนไหม ลายที่โดนเด่นคือลายนกยูงทอง ใช้เทคนิคใหม่การทอผสมผสานกับการเขียนทองสร้างมิติของลวดลายได้อย่างน่าสนใจ
![]()
ผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าทอโบราณอันวิจิตรงดงามของกลุ่มคนซึ่งตั้งถิ่นฐานแถบอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผ้าที่ทอสร้างลวดลายด้วยวิธีการมัดหมี่ เป็นการมัดย้อมเส้นด้ายพุ่งเป็นลวดลายก่อนนำไปทอ เป็นผืนผ้า มีความโดดเด่นอยู่ที่หัวซิ่น และตีนซิ่นสีแดงสด ตัวซิ่นในสมัยก่อนเป็นผ้ามัดหมี่นิยมใช้โครงสีเข้ม หรือสีเม็ดมะขาม ทอเป็นลวดลายโบราณ ด้วยความสวยงามและมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าซิ่นตีนแดงทำให้ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของผ้าซิ่นตีนแดง ครูรุจาภา เล่าให้ฟังว่า “มีเรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่า ผ้าซิ่นตีนแดงในยุคแรกจะเป็นงานประณีตศิป์ที่เกิดขึ้นในจวนเจ้าเมืองในสมัยพระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองพุทไธสง เมื่อ 200 ปีมาแล้ว พระยาเสนาสงครามได้มีคำสั่งให้กลุ่มสตรีในจวนทอผ้าซิ่นตีนแดงขึ้นเพื่อนำไปมอบให้ภรรยาของท่าน เมื่อมีงานพิธีต่างๆ ภรรยาของท่านจึงสั่งให้สตรีในจวนนุ่งซิ่นตีนแดงเหมือนกันทุกคน ทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เมื่อเจ้าพระยาตระกูลเสาไทยสงผู้สืบเชื้อสายต่อจากพระยาเสนาสงคราม ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าซิ่นตีนแดงออกมาเผยแพร่ให้รุ่นลูก หลาน การทอจึงเริ่มกระจายไปตามหมู่บ้านใกล้เคียงในเวลาต่อมา รวมถึงบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเป็นแหล่งที่สร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนแดงที่มีชื่อเสียงในที่สุด ผ้าซิ่นตีนแดงในอดีตเป็นผ้าที่มีราคาแพง เนื่องจากต้องอาศัยช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนามานั่งทอผ้า ขั้นตอนการทำนาสมัยก่อนยุ่งยากกว่าปัจจุบันมาก เมื่อผ่านมาเป็นยุคสมัยที่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยเหลือให้การทำนามีความสะดวก รวดเร็วขึ้น ใบหม่อนมการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ให้มีใบใหญ่ขึน จากที่เป็นผ้าสำหรับผู้มีฐานะ ปัจจุบันกลายเป็นผ้าที่คนทั่วไปสามารถหามาสวมใส่ได้
![]()
![]()
![]()
![]()
![]()
ผอ.อัมพวัน กล่าวว่า“.....ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา SACICT ได้ดำเนินการค้นหาและคัดสรรช่างผู้มีภูมิปัญญาด้าน งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยการเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมแล้วทั้งสิ้น 366 คน โดยแบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 85 คน ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 217 คน และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 64 คน ต่อจากนี้ SACICT ยังคงมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ สืบสานงานหัตถศิลป์ไทยอันทรงคุณค่าจากฝีมือ ช่างหัตถศิลป์ไทย เพื่อต่อยอดให้งานหัตถศิลป์ไทยคงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน และผลักดันให้ SACICT เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย (SACICT CRAFT CENTER) รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจงานศิลปหัตถกรรมไทยสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้ที่ SACICT ทุกวัน เปิดให้บริการตั้งแต่ 8.00-17.00 น. ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือสอบถามข้อมูลโทร.1289 , www.sacict.or.th , www.facebook.com/sacict