TAITRA พา 23 บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีจากไต้หวัน ตบเท้าร่วมงาน Smart Industry Trade Mission 2022 หวังจับคู่นักธุรกิจไทย-ไต้หวัน ลงทุนอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ
23 บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะจากไต้หวันพากันเข้าร่วมในงาน “จับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 2565” (Smart Industry Trade Mission 2022) หวังเปิดโอกาสการเป็นพันธมิตรกับภาครัฐและเอกชนไทยในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย นางสาวซินเธีย ควง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน เปิดเผยว่า ประเทศไทย ถือเป็นประเทศเป้าหมายทางพันธกิจการค้าอีกประเทศหนึ่ง เพราะหลังจากไวรัสโควิดได้ระบาดเป็นเวลามากกว่า 2 ปี ทำให้ประชาชนไม่สามารถติดต่อสื่อสารและทำธุรกิจแบบเจอหน้าได้ เนื่องจากมีการควบคุมทางชายแดนอย่างเข้มงวด แต่การพบกันแบบเผชิญหน้ายังถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการค้าระหว่างประเทศ โดยในช่วงเวลานั้นไต้หวันไม่เคยหยุดที่จะปรับและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ และยังมีแผนที่จะแสดงความสำเร็จเหล่านี้ในประเทศไทย ในงาน “Smart Industry Trade Mission 2022” งานจับคู่ธุรกิจอุตสาหกรรมอัจฉริยะ 2565 จัดโดย สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) โดยมีความร่วมมือกับ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งเป็นงานจับคู่ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะจากไต้หวัน มาพบกับนักธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพาร์ทเนอร์ ทั้งเรื่องการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ Smart Manufacturing , Smart City , Smart Agriculture และ Smart Transportation โดยจัดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาธร ซึ่งนับเป็นการจัดงานจับคู่ธุรกิจไทย-ไต้หวัน ในกรุงเทพเป็นครั้งแรกหลังจากต้องงดเว้นไปเนื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นเวลามากกว่า 2 ปี สำหรับเทคโนโลยีดิจิทัลทางเศรษฐกิจที่ไต้หวันให้ความสนใจคือ “โครงการเมืองอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล เมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและปลอดภัยในรูปแบบการบริหารจัดการตัวเองที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตของผู้คนภายในเมืองและความปลอดภัย “ประเทศไทยต้องการที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยมีแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ซึ่งจะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่มหาอำนาจในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีเป้าหมายที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะ 100 แห่งภายในปี 2567 ซึ่งเป็นไปตามโมเดลเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเมืองอัจฉริยะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ของเมือง อย่างไรก็ตาม เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยต่างคนต่างทำ ดังนั้น เราจึงได้รวบรวมกลุ่มพันธกิจการค้านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะเชื่อมต่อทั้ง 23 บริษัทไต้หวันชั้นนำซึ่งมีสินค้าที่หลากหลายและก้าวล้ำไปกว่าเมืองอัจฉริยะ สามารถสนองตอบความต้องการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ การผลิตอัจฉริยะ และเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งองค์กรเหล่านี้ล้วนมีประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรที่จะช่วยเร่งความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยได้เร็วขึ้นอีกด้วย” นางสาวซินเธีย ควง กล่าว สำหรับ คณะผู้แทนประกอบด้วย บริษัทไต้หวัน 23 แห่ง ผู้พัฒนาระบบและให้บริการโซลูชั่นเมืองอัจฉริยะ ในจำนวนนี้มี 7 บริษัทนำเสนอระบบขนส่งอัจฉริยะ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ โซลูชันที่ครบวงจร และความมุ่งมั่นในการให้บริการเพื่อสร้างเมืองแห่งอนาคต โดยโซลูชันและบริการเหล่านี้ ได้รวมถึงระบบเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) สำหรับมอเตอร์เวย์และท่าเรืออัจฉริยะที่ใช้ระบบประตูอัตโนมัติ (AGS) โดยมีไฮไลต์คือ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ FETC ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ M-Flow หรือระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติที่ได้เปิดให้บริการในไทยเมื่อเร็วๆ นี้ อีกรายคือบริษัท Chunghwa Telecom ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในไต้หวัน นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆในงานยังมีสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ โซลูชันจอแสดงผลตามสถานี ระบบกล้องวงจรปิด ระบบควบคุมการจราจรแบบไดนามิก ระบบขนส่งอัจฉริยะ และรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV) โดยไต้หวันได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลทั่วโลกเพื่อนำเสนอโซลูชั่นต่างๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าไต้หวันมีความแข็งแกร่งและมุ่งมั่นที่จะรุกตลาดต่างประเทศ โดยพร้อมจะทำงานร่วมกับทั่วโลกเพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ทั้งนี้ไต้หวันนับเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและและโซลูชันเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จากรายงานดัชนีเมืองอัจฉริยะปี พ.ศ. 2565 ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม พบว่า เมืองไทเปของไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 12 ในฐานะเมืองอัจฉริยะ ซึ่งหมายความว่าบริษัทต่างๆจะได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในไต้หวัน เช่น Internet of Things (IOT) สิ่งเหล่านี้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะโดยรวม และช่วยให้ไต้หวันยังคงรักษาระดับแนวหน้าของเมืองอัจฉริยะอีกด้วยด้วย นางสาวซินเธีย กล่าวว่า ประเทศไทย มีสถานที่ตั้งที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้า เพราะเป็นประตูสู่เอเชียของนักลงทุน และเป็นศูนย์กลางของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน ในขณะที่ไต้หวันและไทยมีความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย มาจากบริษัทสัญชาติไต้หวันมากที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 30% รวมมูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท และมีบริษัทสัญชาติไต้หวันมากกว่า 5,000 บริษัท และชาวไต้หวันกว่า 200,000 คนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย