Update Newsสังคม

TK park ผนึกแนวร่วมใหม่ จับมือชุมชนพันธมิตรทั่วประเทศ พัฒนาศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน ตอบโจทย์สังคมดิจิตัล

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) มุ่งขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ด้วยตนเองสู่ท้องถิ่นจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "พลังเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน พลังสร้างสรรค์ชุมชน"  โดยจับมือหน่วยงานพันธมิตร พร้อมดึง 200 ชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน หวังตอบโจทย์สังคมยุคดิจิตัลในปีแรกตั้งเป้าสร้างศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้านต้นแบบทุกภูมิภาค ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศไทย

โดยภายในงานมีตัวแทนเครือข่ายชุมชนร่วมอบรมกว่า 400 คน นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “โลกเปลี่ยน การเรียนรู้เปลี่ยน” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ได้แก่ ศุภกร จูฑะพล มุมมองด้านประชากรดิจิทัล, ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลกับการเรียนรู้, สุมล กระจ่างศรี การเรียนรู้กับการพัฒนาคน, สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ สร้างสรรค์การเรียนรู้กอบกู้ชุมชนได้อย่างไร และดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล เรื่องห้องสมุดมีชีวิตไม่ใช่แค่อ่านหนังสือ


   


การเรียนรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะโลกเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน การเรียนรู้จึงต้องเปลี่ยนตาม ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ เดิมเป็นผู้บริหารโครงการ Google เพื่อการศึกษา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Partnerships ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ (Teach for Thailand) ให้ความเห็นว่า บริบทในชุมชนอาจจะไม่พร้อมกับเทคโนโลยี แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ พลังของชุมชน การช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เนื้อหา (Content) เทคโนโลยีคือเครื่องมือ หนึ่งในการต่อยอดก้าวไปสู่ Thailand 4.0 เราไม่ได้เอาเทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง การจะเป็นพลเมืองดิจิทัลคือ การจะใช้สื่อดิจิทัลอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ถูกต้อง ถูกจรรยาบรรณ ควรดูให้เป็นให้เท่าทันสื่อ และจึงใช้กำลังของชุมชน เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เราแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ไปด้วยกัน ค่อยๆ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน


   



ด้าน ศุภกร จูฑะพล เจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท พีทีที ไอซีที โซลูชั่นส์ จำกัด มองว่า พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่จะเชื่อแหล่งสารจากคนไม่รู้จัก เด็กรุ่นนี้ถูกเรียกว่า Digital Native มีอายุระหว่าง 15-24 ปี หรือ ช่วงอายุ 25 ปีลงมา เขาเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี ผู้ปกครองของเด็กยุค Digital Native ต้องใส่ใจเขา ฟังเขา และต้องลองใช้เทคโนโลยีตามลูก ผู้ปกครองและบุตรหลานจะเข้าใจกันและกัน พ่อแม่ต้องทัน เมื่อพ่อแม่อ่อนแรง จึงต้องมีศูนย์การเรียนรู้เข้ามาเป็นตัวช่วย อุทยานการเรียนรู้ต้องเป็นสถาบันที่ส่งเสริมแรงพ่อแม่ ขณะเดียวกันพ่อแม่ยกบทบาทให้ศูนย์มีหน้าที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของบุตรหลาน


ขณะที่ สุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งพระนครศรีอยุธยา มองว่า สื่อดิจิทัลมีอิทธิพลต่อเด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานเราหลุดลอยไปกับสื่อดิจิทัล โรงเรียนบอกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการสั่งสอนเด็ก พ่อแม่บอกเป็นหน้าที่ของโรงเรียน ดังนั้นจึงมาตกอยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ฯ จะท้อถอยหรือท้าทายความสามารถก็ต้องดูกันไป ดังนั้นศูนย์การเรียนรู้สมัยใหม่ที่มีสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน เราต้องสร้างความพร้อมในการเรียนรู้สื่อที่หลากหลายและเท่าทันสื่อ และต้องอ่านและวิเคราะห์สถานการณ์ให้ออกว่า โลกเปลี่ยนไปในทิศทางใด


สำหรับ สุมล กระจ่างศรี ผู้รับผิดชอบศูนย์ดิจิทัลชุมชนบ้านคลองกะทา ให้ความเห็นว่า ศูนย์การเรียนรู้เปรียบเสมือนชุมชน มีหน้าที่เชื่อมร้อยถักทอ บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน มองเด็กเป็นเป้าหมายหลัก สิ่งรอบล้อมเด็กเป็นเป้าหลอม ชุมชนเครือข่ายมีหน้าที่ ปลูกฝังนิสัยเด็ก ขณะเดียวกัน เมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลา ชุมชนหรือเครือข่ายหรือศูนย์การเรียนรู้ก็ต้องทำ “ห้องเรียนสำหรับพ่อแม่” ด้วย กระบวนการของชุมชนหรือศูนย์การเรียนรู้ เราต้องเน้นให้เด็กคิดและสร้างคำถามเพื่อกระบวนการคิด


ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค - TK park) กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้และชุมชนเครือข่ายมีหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานความสัมพันธ์ การเรียนรู้เกิดการพูดคุย คนที่ต้องเรียนรู้พร้อมเด็กคือ พ่อแม่ ศูนย์หรือพื้นที่แห่งการเรียนรู้เมื่อนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เราต้องคุมและรู้เท่าทันเทคโนโลยีให้ได้ ประสานกันระหว่างเทคโนโลยีและชีวิต ศูนย์การเรียนรู้และชุมชนเครือข่ายมีหน้าที่หลักในการสร้างคน เทคโนโลยีกับจิตใจคือเรื่องเดียวกัน “วิถีชีวิต” อยู่เหนือเทคโนโลยี แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปแต่เป้าหมายการเรียนรู้คือ สัจจธรรม 

การค้นพบตัวตนคือ สิ่งสำคัญที่สุด ระบอบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้สอนให้เราค้นพบตัวเอง ตามเพื่อน ไม่ค้นพบความถนัด นอกจากสัจจธรรมของชีวิต การอยู่ในสังคมเราต้องเรียนรู้ตัวเองต้องการอะไร เราต้องยอมรับคนอื่นด้วย นอกจากนี้ยังฝากข้อคิด 3ย. คือ ยอมรับในตัวตนของตนเองและผู้อื่น  ยับยั้งชั่งใจความอยากมีอยากเป็น และยืดหยุ่น


“กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ใจถึงใจ” เราต้องผลักดันให้ศูนย์การเรียนรู้อยู่ได้อย่างยั่งยืน เราต้องบูรณาการอย่างจริงใจต่อกันและกัน ทุกหน่วยงานมีความตั้งใจจริง เราเป็นเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ใกล้บ้าน แต่ละศูนย์มีความแตกต่างกัน เรามีสำนึกทางวัฒนธรรมแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เรามีเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ห้องสมุดมีชีวิตคือ การมีวิทยากรที่มีคุณค่าในชุมชนนั้นๆ คนในสังคมนี่ละที่เป็นศูนย์เรียนรู้ในแต่ละพื้นที่ที่มีคุณค่า” ดร.ทัศนัยกล่าวสรุปทิ้งท้ายภายในงาน