นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้า ตระหนักถึงความเพียงพอ มั่นคง เชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และให้ความสำคัญกับคุณภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการรองรับเหตุฉุกเฉินและขัดข้องต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแผนงานด้านพลังงานไฟฟ้าให้สอดคล้องเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น กฟน. ได้เตรียมความพร้อมรองรับการจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอและเสถียรภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามที่กระทรวงคมนาคมมีแผนงานพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ (ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน) และพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD (Transit Oriented District) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,235 ไร่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน รวมถึงพัฒนาศูนย์พหลโยธินให้เป็น Smart City และรองรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยสถานีกลางบางซื่อพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563
ผู้ว่าการฯ กฟน. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กฟน. ได้ร่วมประชุมความร่วมมือกับ การรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งแต่ปี 2553 - 2558 เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าสำหรับรองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บางซื่อ และระบบรถไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่พัฒนาบริเวณโดยรอบฯ อีกทั้งได้บูรณาการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อร่วมกันวางแผนงานและจัดสรรงบประมาณลงทุนก่อสร้างให้การจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่มีความเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ได้มีการประมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อกำหนดแผนงานรองรับในพื้นที่ซึ่งคาดว่ามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 1,200 MVA
โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ กฟน. และ กฟผ. เพื่อเดินหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ ขณะนี้ กฟน. กำลังดำเนินการก่อสร้างสถานีต้นทางบางซื่อเพื่อรับไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร ของ กฟผ. รวมถึงการก่อสร้างระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ที่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับโครงการฯ และพื้นที่พัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ใช้งบประมาณลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,275.75 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้าง 15 ธ.ค. 60 ถึง 5 ธ.ค. 62 (รวมระยะเวลา 720 วัน) เสร็จสิ้นทันกำหนดเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับสถานีกลางบางซื่อและโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้
ทั้งนี้ กฟน. จะดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางรวมถึงสถานีไฟฟ้าย่อยและออกแบบการจ่ายไฟด้วยระบบไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ด้วยการควบคุมจัดการที่ทันสมัยด้วย Smart Micro Grid พร้อมการสนับสนุนหรือลงทุนติดตั้งการก่อสร้างระบบรองรับการใช้ Green Energy เป็นไปตามนโยบายลดการใช้พลังงานจาก fossil เพื่อให้มีความมั่นคงเสถียรภาพ และช่วยปรับทัศนียภาพให้สวยงาม มีความปลอดภัย
ซึ่งคาดหวังว่าในฐานะที่ กฟน. เป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในระดับสากล มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีจำหน่ายกระแสไฟฟ้าทันสมัย มีศักยภาพประสบการณ์ความเชื่อถือได้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านระบบไฟฟ้าในมหานครอย่างยาวนานกว่า 60 ปี ทำให้การดำเนินการก่อสร้างที่ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ สำเร็จเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าสูง และสามารถควบคุมจัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับโครงการรถไฟฟ้ารวมถึงพื้นที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาสู่การเป็น Smart City ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
Post Views: 46