Update Newsคมนาคมท่องเที่ยว B Tripธุรกิจท่องเที่ยวสายการบิน

กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ยุติการให้บริการราชินีแห่งท้องฟ้าลำสุดท้าย

กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ประกาศการลงจอดครั้งสุดท้ายของเครื่องบินโบอิ้ง 747F ณ กรุงโดฮา ด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ พร้อมต้อนรับเครื่องบินขนส่งสินค้า 777-8F ใหม่เข้าสู่ฝูงบิน

กรุงเทพฯ ประเทศไทย, 7 มีนาคม 2567 – เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เครื่องบินโบอิ้ง 747F ของกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ทะเบียน A7-BGB ได้ปิดฉากการให้บริการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ด้วยการลงจอดอย่างสง่างามครั้งสุดท้ายของเที่ยวบิน QR8807 จากบาร์เซโลนาไปยังโดฮา พร้อมกันนี้  กาตาร์ แอร์เวย์ส มุ่งเดินหน้าพัฒนาการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

เครื่องบิน A7-BGB เข้าร่วมฝูงบินกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 โดยตลอดช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา เครื่องบินขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ทั้งสองลำได้ปฏิบัติการขนส่งสินค้ามากกว่า 9,000 เที่ยวบิน รวมเวลามากกว่า 66,000 ชั่วโมง และเคลื่อนย้ายสินค้าได้เกือบ 800,000 ตัน

เมืองอินชอนเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับเที่ยวบินเครื่องบิน 747 โดยการบินมากถึง 1,165 เที่ยวบิน นอกจากนี้ เมืองอื่น ๆ อย่างแฟรงก์เฟิร์ต อัมสเตอร์ดัมและกว่างโจวก็นับเป็นหนึ่งในสิบจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการขนส่งสินค้า

เครื่องบินโบอิ้ง 747 ของกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก สามารถรองรับรถแข่งได้มากถึง 30 คันหรือม้าแข่งพันธุ์แท้ 90 ตัวในเที่ยวบินเดียว นำเสนอบริการขนส่งที่เชื่อถือได้และปลอดภัยแก่ลูกค้าทั่วโลก นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่เครื่องบินของสายการบินหลายแห่งได้งดให้บริการ กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ยังเป็นผู้ให้บริการหลักในการขนส่งอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและเครื่องมือทางการแพทย์สำคัญไปยังทุกมุมโลก

Mark Drusch ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขนส่งสินค้าของกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก กล่าวว่า “เมื่อเจ็ดปีที่ผ่านมา เราได้ต้อนรับเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 747 เข้าสู่ฝูงบินของเรา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านของความจุ”

“กลยุทธ์การขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินของเราในอนาคตมีพื้นฐานมาจากความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และความมุ่งมั่นของเราในการเพิ่มประสิทธิภาพที่ยั่งยืน ซึ่งการสร้างความยั่งยืนนี้จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของฝูงบินที่ทันสมัยและความสามารถในการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการบินและเชื้อเพลิงล่าสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจากปัจจัยสำคัญเหล่านี้ กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก จึงเป็นลูกค้ารายแรกของเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 777-8F ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงสุดและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุดในอุตสาหกรรม โดยเรามุ่งมั่นในการพัฒนาฝูงบินของเราให้เป็นฝูงบินขนส่งสินค้าที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด”

กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 777-8F จำนวน 34 ลำ พร้อมกับตัวเลือกเพิ่มเติมอีก 16 ลำ เพื่อขยายฝูงบินโบอิ้ง 777 ฟรีทเตอร์ จำนวน 27 ลำ (โดยเครื่องบิน 777F ลำที่ 28 จะเข้าประจำการในช่วงกลางเดือนมีนาคม)ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เฟรมอากาศและเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูง ทำให้เครื่องบินรุ่น 777-8 เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าที่บินได้ไกลที่สุด พร้อมมีพื้นที่เก็บสินค้ากว้างขวางที่สุดและเป็นหนึ่งในเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เครื่องบินโบอิ้ง 777-8F จะลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อย CO2 ลงถึง 30% เมื่อเทียบกับเครื่องบินโบอิ้ง 747-8

เกี่ยวกับกาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก

กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศชั้นนำของโลก ตั้งอยู่ในเมืองโดฮา รัฐกาตาร์ ให้บริการเครือข่ายทั่วโลกที่มีจุดหมายปลายทางสำหรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 70 แห่ง และจุดหมายปลายทางสำหรับผู้โดยสาร 760 แห่ง ที่ใช้เครื่องบินขนส่งสินค้าและเที่ยวบินผู้โดยสารแบบบรรทุกขนส่งสินค้าใต้ท้องเครื่อง ฝูงบินขนส่งสินค้าของสายการบินประกอบด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าโบอิ้ง 777 จำนวน 27 ลำ และ 230 เครื่องบินแบบบรรทุกสินค้าใต้ท้องเครื่อง นอกจากนี้ยังมีครือข่ายการขนส่งสินค้าทางบก (RFS) ที่กว้างขวาง สายการบินขนส่งสินค้าเปิดตัวในฐานะลูกค้ารายแรกของเครื่องบินโบอิ้ง 777-8F ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูง และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษที่ดีขึ้นถึง 25% โดยจะมีการส่งมอบครั้งแรกในปี 2570

ในฐานะผู้นำตลาดด้านการขนส่งสินค้าจึงมีมาตรฐานการปฏิบัติงานในระดับสูงสำหรับการขนส่งสินค้า โดยมีการลงทุนจำนวนมากในด้านดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการ

กาตาร์ แอร์เวย์ส คาร์โก ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนและการตอบแทนสังคมผ่านโครงการความยั่งยืน WeQare ซึ่งสร้างขึ้นจากปัจจัยสำคัญของความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม