การบินไทยและไทยสมายล์ เผย 7 มาตรการ ป้องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
วันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จัดบรรยายสรุปการออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งทางด้านอากาศยาน การบริการบนเครื่องบิน รวมถึงฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งนำสื่อมวลชนเข้าชมการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ และการเช็ดทำความสะอาดภายในเครื่องบิน โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการนำชม พร้อมด้วยนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายเชิดพันธ์ โชติคุณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง เรืออากาศเอก ปรารถนา พัฒนศิริ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายความปลอดภัย ความมั่นคงและมาตรฐานการบิน และนายภีมะ เนยปฏิมานนท์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น บริษัท การบินไทยฯ ร่วมบรรยายสรุป ณ โรงซ่อมเครื่องบิน (Hangar) ฝ่ายช่างการบินไทย สุวรรณภูมิ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย และไทยสมายล์ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะวิกฤติ เป็นผู้รับผิดชอบในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมทั้งประสานงานหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก โดยในส่วนของหน่วยงานภายใน ประสานให้แต่ละฝ่ายดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และประสานกับหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในการติดตามการออกมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาตรการมาดำเนินการปฏิบัติ รวมทั้งสรุปรายงานผลการดำเนินการให้ฝ่ายบริหารรับทราบอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการหลักของการบินไทยจะคำนึงถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผู้โดยสารและการดำเนินการด้านสุขลักษณะ เพื่อให้มีการรักษาความสะอาดสูงสุด ในการให้บริการทั้งบนเครื่องบิน และการบริการภาคพื้น ได้แก่ มาตรการในการคัดกรองผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก และมาตรการการรักษาความสะอาดในห้องผู้โดยสารบนเครื่องบิน ทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องใช้ในการบริการและพนักงานที่ปฏิบัติงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 1. มาตรการคัดกรองในการตรวจรับผู้โดยสารและการบริการภาคพื้น - สังเกตอาการผู้โดยสาร ณ จุดบริการ หากพบว่ามีอาการบ่งชี้ ให้รายงานต่อแพทย์ประจำสนามบินเพื่อตรวจดูอาการ และยืนยันความปลอดภัยก่อนเดินทาง 2. มาตรการในการให้บริการบนเครื่องบิน - พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสวมใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือในการบริการบนเที่ยวบินที่มีความเสี่ยง - ให้บริการโดยไม่ให้ผู้โดยสารจับต้องเครื่องมืออุปกรณ์บริการอาหาร - เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดภายในห้องน้ำระหว่างเที่ยวบิน - จัดเตรียมหน้ากากอนามัยสำหรับผู้โดยสารที่มีอาการสวมใส่บนเครื่อง - สังเกตอาการผู้โดยสารระหว่างเดินทาง หากมีอาการต้องสงสัยให้แยกผู้โดยสาร และแจ้งด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเครื่องลง 3. มาตรการจัดเตรียมอากาศยาน และฆ่าเชื้อโรค - การอบพ่นสเปรย์ Calla 1452 ฆ่าเชื้อโรคในอากาศยาน ทั้งในบริเวณห้องผู้โดยสาร และห้องนักบินในทุกเที่ยวบินที่ทำการบินกลับมาจากประเทศจีนทั้งหมด และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง - ระยะเวลาในการพ่นยาฆ่าเชื้อบนเครื่องบิน โดยเริ่มจากลูกเรือคนสุดท้ายลงจากเครื่อง ใช้เวลาทั้งหมด 45 นาที โดยเป็นการพ่นยา 15 นาที และอีก 30 นาที เป็นการปิดเครื่องบินเพื่อทำการอบฆ่าเชื้อ - การกรองอากาศด้วย HEPA FILTER 4. มาตรการทำความสะอาดภายในอากาศยานมามาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยพนักงาน - ทำความสะอาด Deep Cleaning และทำความสะอาด 36 จุดสัมผัสร่วม แบ่งตามพื้นที่เป็น 5 ส่วน ได้แก่ กระเป๋าหน้าที่นั่งผู้โดยสาร (Passenger Seat Pocket) บริเวณภายในเครื่องบินทั่วไป (Aircraft Interior Cabin) ที่นั่งผู้โดยสาร (Passenger Seat) ครัว (Galley) และห้องน้ำ (Toilet) โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้ 1. พนักงานต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน (หน้ากาก/ถุงมือ) อย่างเคร่งครัด 2. มัดปากถุงให้แน่นหนา ก่อนนำขยะลงจากเครื่องและทิ้งในจุดที่กำหนด 3. หลังจากปฏิบัติงานต้องล้างมือด้วยสบู่/เจลล้างมือ ทุกครั้ง 5. มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสุขอนามัยพนักงาน - เผยแพร่ความรู้ให้พนักงานเรื่องลักษณะของโรค และการป้องกันตัวเอง ไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก - จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้พนักงาน - ให้ทำการตรวจสุขภาพหากพบพนักงานมีอาการต้องสงสัย ตามความเห็นแพทย์ และให้หยุดพักจนกว่าจะหายเป็นปกติ 6. มาตรการการรับขนส่งสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ - ตรวจสอบหีบห่อสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน - หลีกเลี่ยงการส่งสินค้าที่มีความเสี่ยง - จัดการคลังสินค้าให้ถูกสุขลักษณะปลอดจากการเป็นแหล่งเชื้อโรค 7. มาตรการด้านโภชนาการ - จัดซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP - ดำเนินการผลิตภายใต้ระบบประกันคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร HACCP, GMP, HALAL - เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตและบริการทุกชิ้นผ่านการทำความสะอาดและพาสเจอไรซ์ - ผ้าที่ให้บริการในเที่ยวบินผ่านการซักอบรีด อย่างถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้ การบินไทยและไทยสมายล์ ได้ติดตามประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป