คปภ. ลงพื้นที่ “เมืองย่าโม” เปิดโครงการ“Training for the Trainers”
ชูแอพฯ “กูรูประกันข้าว” เพื่อติดอาวุธด้านประกันภัยให้เกษตรกรรับมือภัยธรรมชาติ พร้อมจับมือหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ลงนาม MOU ร่วมเป็นเครือข่ายผลักดัน“เกษตรกร – ผู้ประกอบการค้า” นำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจอย่างครบวงจร
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้ง ผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา จำนวน 3.13 ล้านไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 1.44 ล้านไร่ ติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้จังหวัดนครราชสีมา ยังติดอันดับ 1 ใน 3 ที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงที่สุดของประเทศอีกด้วย ดังนั้น (ในวันที่ 3 เมษายน 2562) ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่ในอำเภอสูงเนินพบปะเกษตรกรจำนวน 300 ราย ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น ช่วงระยะเวลาในการทำประกันภัย ไม่ตรงกับช่วงเพาะปลูก กรณีพื้นที่เพาะปลูกมีการประกาศเป็นพื้นที่รับน้ำ กรณีการมอบอำนาจคนในครอบครัวให้ทำประกันภัยแทนกัน กรณีการทำประกันภัยพืชชนิดอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้คณะวิทยากรได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป สำหรับ ในวันนี้ (4 เมษายน 2562) เป็นการเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัยครั้งแรกในปีนี้ตาม“โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562” ณ โรงแรมแคนทารี่ โคราช จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ และกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่จัดการอบรมเป็นจังหวัดแรกเพื่อเปิดตัวโครงการในปีนี้ ซึ่งการลงพื้นที่และการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมาในการนำระบบประกันภัยไปเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง อันจะช่วยนำพาอุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีความเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป และเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายและเพิ่มช่องทางการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ก่อนพิธีเปิดโครงการอบรมฯ สำนักงาน คปภ. โดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่องการบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย กับ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ รองประธานกรรมการฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ เป็นผู้แทนในการลงนาม โดยมี นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและนายอัฐพล สัมพันธ์วงศ์ รองประธานกรรมการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจการค้าสตาร์ทอัพและกิจการพิเศษ ร่วมเป็นสักขีพยาน สำหรับกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะมุ่งเน้นการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านประกันภัยไปสู่เกษตรกรและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างครบวงจร เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวในพิธีเปิดโครงการประกันภัยข้าวนาปี มีใจความสำคัญว่าโครงการปีนี้ มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากโครงการปีก่อนๆ สำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ (ซึ่งเบี้ยประกันภัยลดลงจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่มี อัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่) โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35.4 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 23.6 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,500 บาท ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่ “ผมขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่บริหารความเสี่ยงด้วยการนำประกันภัยข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562) และเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Mobile Application ชื่อ “กูรูประกันภัย” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในมิติต่างๆ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โหลดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติด้วยระบบประกันภัย และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย