Update Newsกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สังคมสังคม/CSR

นายกฯ เปิดงาน วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 “NO VICTIMS TEARS”

กระทรวง พม. เดินหน้าต้าน "ค้ามนุษย์" เนื่องในวันรณรงค์ต่อต้าน "การค้ามนุษย์" ประจำปี 2565 เผยช่วงโควิดหลอกลวงออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เร่งพัฒนาการทำงานให้ทันสถานการณ์ ผลการดำเนินงานปี 64 จับกุมแล้ว 188 คดี เป็นคดีออนไลน์กว่า 107 คดีการค้ามนุษย์" เป็นอาชญากรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการ "ค้ามนุษย์" และประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ในปี 2558

วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 "NO VICTIMS NO TEARS" โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวรายงาน ซึ่งจัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคประชาสังคม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การค้ามนุษย์ เป็นอาชญากรรม มีความซับซ้อน และ ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างร้ายแรง และเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและภาพลักษณ์ของประเทศ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยอันตรายของการค้ามนุษย์และประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยมีการบริหารจัดการภัยคุกคามทุกรูปแบบในองค์รวมทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ



รวมทั้งมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ระยะ 20 ปี ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่สลับซับซ้อนในหลายมิติ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระบวนการค้ามนุษย์ ได้หาวิธีการหลอกลวง และกระทำความผิดในการค้ามนุษย์ รูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย



อาทิ การค้าประเวณีออนไลน์ การหลอกลวงเด็กและเยาชน และผู้หญิงผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อผลิตสื่อลามกอนาจาร รวมทั้งหลอกลวงจัดหางานออนไลน์ เพื่อชักชวนคนไทยไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้น ขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการบูรณาการในทุกมิติอย่างจริงจัง ตลอดจนปรับวิธีการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบ การกระทำความผิด การค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก โดยต้องพัฒนาการดำเนินคดี การป้องกัน การคุ้มครอง เน้นการดำเนินงานผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสากล และต้องมีความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ สร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าการค้ามนุษย์เป็นภัยใกล้ตัว และไม่เข้าร่วมไม่สนับสนุน ไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำที่พบเห็นในปัจจุบัน

ต้องดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการในการแก้ปัญหาได้ ต้องจับตามอง เมื่อรู้ เห็น พบ เจอคนเดือดร้อน ต้องเข้าสู่กระบวนการให้ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมทั้งขอให้ทุกภาคส่วนในสังคม ผนึกกำลัง เป็นภาคีเครือข่าย ทางสังคม ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ จากการเฝ้าระวัง จากภาคประชาชนจะทำให้การทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น"

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นป้องกัน แก้ไขปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดไปกับสังคมไทยอย่างยั่งยืน หวังว่าการจัดงานในวันนี้จะเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทย เนื่องจากการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือ ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยลำพัง ทุกหน่วยงานต้องร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป

เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลกต่อไป สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานอิสระขอให้มีความมุ่งมั่น อดทน ปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบความสามารถ ปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคต เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความสงบสุขให้กับพี่น้องประชาชน และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน



ด้าน “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เนื่องในวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 2565 โดยระบุว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์เนื่องจากเป็นอาชญากรรมของชาติและละเมิดสิทธิมนุษย์ชนอย่างร้ายแรง จึงได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย มีการดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ คือ การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายด้วยบทลงโทษรุนแรง เด็ดขาด คุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์โดยยึดหลักผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง การจัดงานนี้ ภายใต้แนวคิดหลัก "NO VICTIMS NO TEARS" หากไม่มีการค้ามนุษย์ ย่อมปราศจากผู้เสียหาย และความรู้สึกไร้ค่าไร้ศักดิ์ศรี

"การจัดงานในวันนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน เด็กและเยาวชนดีเด่น ด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจ เป็นแบบอย่างการทุ่มเทแรงกายแรงใจในการต่อต้านการค้ามนุษย์"

การดำเนินงานต่อไป กระทรวง พม. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้ร่วมทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องและเร่งพัฒนาศักยภาพในการใช้กฎหมายเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ยกระดับการบริการ การให้อิสระแก่ผู้เสียหาย โดยได้จัดทำคู่มือปฏิบัติการทั่วประเทศ กระทรวง พม. ได้จัดทำสัมมนา 4 ภูมิภาค เพื่อให้ระดับท้องถิ่นเข้าใจแผนปฏิบัติการอย่างถ่องแท้เพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดรูปแบบผ่านออนไลน์มากขึ้น เกิดการล่อลวงไปทำงานต่างประเทศ เพื่อเป็นคอลเซนเตอร์และสแกมเมอร์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมประเทศไทย จึงเปลี่ยนวิธีการทำงานมุ่งเน้นการบรูณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2564 ดำเนินคดีแล้ว 188 คดี

ผลการดำเนินการ ปี 2564 ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 188 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 55 คดี โดยในจำนวนนี้เป็นคดีออนไลน์ 107 คดี สูงกว่าปี 2563 จำนวน 37 คดี มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนในการค้ามนุษย์ การใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในการใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ดอนเมือง

ด้านการป้องกัน ดำเนินการป้องกันการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรการบริหารป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐ มิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2565 ซึ่งเพิ่มนิยามการพาบุคคลเข้ามา ที่อาจเกี่ยวข้องหรือนำไปสู่การค้ามนุษย์ ส่งเสริมงานศักยภาพสถานประกอบการในการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี ทำตามคู่มือและการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้านแรงงาน 


ด้านการคุ้มครอง หน่วยงานรัฐและองค์การพัฒนาเอกชน ได้ทำการช่วยเหลือผู้เสียหาย 354 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 123 คน พัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ ออกคำแนะนำแนวทางปฏิบัติต่อผู้เสียหาย พัฒนาแนวทางให้อิสระต่อผู้เสียหาย ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและใช้เครื่องมือสื่อสารพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมเพื่อป้องกันปัญหาร่วมกัน นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ด้านการดำเนินคดีและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อจัดเก็บ ข้อมูลด้านการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ