เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 63 ณ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยจากที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงได้พัฒนารูปแบบการให้ความรู้และการฝึกทักษะชีวิตของเด็กออทิสติก ซึ่งเรียนรู้ได้จากที่บ้าน โดยให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลมีส่วนร่วมได้ ตามแนวคิด ปรับบ้านเป็นโรงเรียน เปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นครู เพื่อรองรับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานด้านคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งจากสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,027,500 คน พบผู้ที่มีความพิการออทิสติกจำนวน 14,563 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) โดย พก. มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลบุคคลออทิสติก 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดนนทบุรี และศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาคมผู้ปกครองออทิซึม (ไทย)
โครงการดังกล่าว พก. โดยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานมีภาวะออทิซึม ซึ่งมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากขึ้นในช่วงนี้ และเพื่อเป็นการรองรับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ (New Normal) จึงได้จัดทำหลักสูตรออนไลน์ขึ้น
โดยมีเนื้อหาเน้นการใช้ชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) เสริมทักษะพัฒนาการการใช้ชีวิตและทักษะการสื่อสาร 2) กิจกรรมผ่อนคลายสำหรับผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความเข้าใจต่อบุตรหลาน โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้รับบริการของ พก. ซึ่งเป็นคนพิการทางออทิสติก ที่ไม่สะดวกเดินทางและที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงกลุ่มที่ขอรับคำปรึกษาผ่าน 1300 และช่องทางอื่นๆ
นางธนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ จะมีการจัดห้องเรียน 2 รอบคือ เวลา 10.30 น. และ 15.00 น. ผ่าน application zoom ใช้เวลา 45 นาที / ครั้ง โดยครูฝึกสอนประเมินศักยภาพให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็กและครอบครัว และเน้นให้ผู้ปกครองและเด็กได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับ ได้แก่ 1) เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขณะทำกิจกรรม 2) เสริมทักษะการเรียนรู้โดยการโต้ตอบแบบ real time 3) เกิดสมาธิจดจ่อ จดจำมากขึ้น เนื่องจากไม่มีสิ่งเร้าอื่น 4) ครูฝึกสอนสามารถสังเกตพฤติกรรมเด็กขณะเรียน online ได้จากการบันทึกวีดีโอเพื่อการแก้ไขพัฒนาการเรียนรู้ต่อไป 5) ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกัน
ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ที่เพจเฟซบุ๊กของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ 0 2354 3388
https://youtu.be/l16X5aOgbw8
Post Views: 37