พก. เคาะบ้าน โครงการ “พก. ปันสุขสู่ชุมชนลำชะล่า”จัดทำสมุดพกครอบครัว กลุ่มเปราะบางพร้อมแนะสิทธิ์ “เราชนะ”
วันนี้ (28 ก.พ. 63) เวลา 08.00 น. นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick-off ปล่อยขบวนรถ จำนวน 10 คัน ไปยังชุมชนลำชะล่า (โคกบ่าวสาว) เพื่อจัดกิจกรรมโครงการ “พก. ปันสุขสู่ชุมชน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน พก. จะตามไปเยี่ยมชุมชนลำชะล่า” ณ บริเวณด้านหน้าอาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพฯ จากนั้น เวลา 09.00 น. นางสาวสราญภัทร เป็นประธานนำลงพื้นที่ ณ ชุมชนลำชะล่า (โคกบ่าวสาว) แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ตามโครงการ 1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา โดยมีคณะผู้บริหาร พก. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการกรุงเทพมหานครสาขาสายไหม ผู้แทนชุมชน ผู้แทนสำนักงานเขตบางเขน ผู้แทนศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน ผู้แทนธนาคารกรุงไทยสำนักงานเขตคันนายาว และสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เจ้าหน้าที่ พก. ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ นางสาวสราญภัทร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดโครงการ 1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา โดยมีเป้าหมายใน 49 ชุมชนนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการในพื้นที่โครงการ พม. เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยมีแนวทางในการดำเนินงานประกอบด้วย การสร้างความเข้าใจร่วมกันระดับกรม การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดอันดับความยากลำบากของประชากรในชุมชน การจัดทำสมุดพกครอบครัว การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน การบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และการถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน และแก้ไขปัญหาความยากจน รวมถึงปัญหาสังคม พร้อมจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวโดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทั้งในระดับกระทรวงและต่างหน่วยงาน ทั้งนี้ พก. ได้รับมอบหมายพื้นที่ชุมชนลำชะล่า (โคกบ่าวสาว) แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ 1 กรม 1 พื้นที่พัฒนา โดยมีจำนวนครัวเรือน ทั้งหมด 203 ครอบครัว ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 26 - 59 ปี รองลงมาเป็นผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ต่อครัวเรือนอยู่ที่ครอบครัวละ 5,000 - 10,000 บาท ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่ามีสภาพปัญหาของชุมชนใน 5 ประการหลัก ดังนี้ 1) ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ 2) ด้านเศรษฐกิจและสังคม 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านสุขอนามัย และ 5) ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ นางสาวสราญภัทร กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ จึงได้จัดกิจกรรม “พก. ปันสุขสู่ชุมชน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน พก. จะตามไปเยี่ยมชุมชนลำชะล่า” เพื่อพบปะเยี่ยมกลุ่มเปราะบางและผู้ประสบปัญหาทางสังคม และรับฟังเรื่องราวปัญหาของพี่น้องประชาชน รวมถึงค้นหากลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นหรือกลุ่มที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ยังไม่เข้าถึงสวัสดิการทางสังคมของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนที่อยู่ในชุมชน โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดทีมเจ้าหน้าที่ พก. นักสังคมสงเคราะห์ และอพม. ลงพื้นที่ร่วมกันในการสำรวจและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง จำนวน 30 ครัวเรือน ซึ่งมีการจัดทำสมุดพกครอบครัวเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาของคนในชุมชน ซึ่งจะมีการจัดทำแผนร่วมกันในการแก้ปัญหาชุมชนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกลุ่มเปราะบางรายครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น โดยที่สมาชิกในครอบครัวสามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน และอยู่ในสังคมและชุมชนได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญภายในงานประกอบด้วย การมอบแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และถุงยังชีพ ประกอบด้วย เครื่องอุปโภค-บริโภค กิจกรรมเสวนาโต๊ะกลม “บริบทชุมชนลำชะล่า (โคกบ่าวสาว)” นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย สำนักงานเขตคันนายาว และสาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ จัดหน่วยเคลื่อนที่รับลงทะเบียนและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนเปราะบาง หรือกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ในชุมชนฯ ให้เข้าถึงสิทธิ์ตาม “โครงการเราชนะ” ของรัฐบาล รวมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไปยังกลุ่มคนเปราะบางได้รับทราบต่อไป