Update Newsสังคมสังคม/CSR

พม.พก. ชี้แจงประเด็นความคืบหน้ากรณีการทุจริตเงินคนพิการ

วันนี้ (13 พ.ย. 61) เวลา 13.30 น. ณ อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ บ้านราชวิถี กรุงเทพมหานคร นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ชี้แจงประเด็นความคืบหน้ากรณีการทุจริตเงินคนพิการ ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณีทุจริตค่าแรงคนพิการและผู้ดูแลคนพิการในหลายจังหวัด เช่น จ.สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และกาฬสินธุ์ 

โดยเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่องใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นที่ 1) เรื่องร้องเรียนผู้ปกครองคนพิการที่ได้รับสิทธิจ้างเหมาบริการ ตามมาตรา 35 รวมทั้งร้องเรียนกองทุนคนพิการต่างๆ ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จำนวน 15 จังหวัด โดยจะดำเนินการส่งฟ้องศาลใน 3 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรสาคร 

โดยข้อเท็จจริง กรณีต่างจังหวัด กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมขอความร่วมมือตรวจสอบการรับสิทธิตามมาตรา 35 โดย พก. ได้ติดตามรายงานอย่างใกล้ชิด และรับรายงานกลับมาแล้วใน 2 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ และกาฬสินธุ์ ส่วนกรณีในเขตกรุงเทพฯ พก. ได้ดำเนินการย้ายเจ้าหน้าที่ ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องตามข้อร้องเรียนไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนอื่นก่อน พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว



นางธนาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ 2) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมตรวจสอบและพิจารณากรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 

ในกรณีดังกล่าว พก. ได้ให้ความร่วมมือโดยเร่งรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งให้ ป.ป.ท. และ สตง. ตรวจสอบต่อไป ประเด็นที่ 3) ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อ้างว่าทำให้เกิดความเสียหายปีละ 1,500 ล้านบาท และคาดว่ามีการทำเป็นขบวนการ ทั้งนี้ พก. ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายดังกล่าวด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ และประเด็นที่ 4) เครือข่ายพิทักษ์สิทธิจะเข้าพบ เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงในระดับกระทรวงฯ เพื่อติดตามการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหากไม่มีคำตอบชัดเจนจะยกระดับการเคลื่อนไหว โดยคาดว่าจะมีคนพิการและเครือข่าย ออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. ร่วมกับ กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการประชุมหารือวานนี้ (12 พ.ย. 61) โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 1. กำหนดแนวทางปฏิบัติและบูรณาการการดำเนินงาน ระหว่างกระทรวงแรงงาน (มาตรา 33 และ 35) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (มาตรา 34) พร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจ้างงานคนพิการ และประชาสัมพันธ์ให้คนพิการ องค์กรคนพิการ สถานประกอบการได้ทราบอย่างทั่วถึง 

2. กำหนดแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับการร้องทุกข์ ร้องเรียน การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 34 และ 35 ให้มีความชัดเจน เพื่อดำเนินการได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้อง และรวดเร็ว หากเป็นกรณีเจ้าหน้าที่กระทำความผิด จะดำเนินการทางวินัยอย่างเคร่งครัด 3. ให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกลางการจ้างงานคนพิการเพื่อการบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวง พม. และกระทรวงแรงงาน ที่มีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและตรวจสอบได้