พาณิชย์นำทัพนักธุรกิจไทยเจาะตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ญี่ปุ่น
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 – 21 เมษายน 2560 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้นำคณะผู้แทนการค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหนักเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเจาะตลาดสินค้าหรือผลิตชิ้นส่วนให้แก่กลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจรองรับสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น สินค้าที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีคำสั่งซื้อเพื่อไปใช้ในบ้านพักคนชรา กลุ่มสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า ท่อเหล็กร้อยสายไฟ และชิ้นส่วนโลหะที่สั่งเข้าไปใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่น “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นโอกาสของสินค้าอุตสาหกรรมหนักไทยในธุรกิจสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น จึงได้จัดคณะผู้แทนการค้าจำนวน 10 บริษัท ประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจการรับช่วงการผลิต (Subcontracting) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เพาเวอร์ซัพพลาย หม้อแปลงไฟฟ้า ชั้นและตะแกรงโลหะ ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่นได้รวมทั้งกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์และเครื่องมือเภสัชกรรม/ทันตกรรม นอกจากนี้ กรมยังได้นำผู้ผลิตหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุรายแรกและรายเดียวของไทยร่วมคณะครั้งนี้ด้วย นับเป็นการส่งเสริมการค้าตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และนำเสนอสินค้าที่เป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว ผลจากการเจรจาการค้าในครั้งนี้ นอกจากหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า ท่อเหล็กร้อยสายไฟ และชิ้นส่วนโลหะที่สั่งเข้าไปใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์จะได้รับความสนใจแล้ว ผู้นำเข้าญี่ปุ่นยังสนใจสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูป อาทิ เตียงคนไข้ เก้าอี้ทำฟัน ผ้าอ้อมติดสัญญานสำหรับผู้สูงอายุเพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาล/บ้านพักคนชรา ตลอดจนสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ โซล่าปั๊ม พาเลทเหล็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย รวมแล้วมีคำสั่งซื้อสินค้าภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่า 2,268,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 79.38 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรประมาณ 127 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถึงกว่า 40 ล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสาม ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก ก่อให้เกิดธุรกิจเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมากมาย อาทิ ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงสินค้าใหม่ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ญี่ปุ่นจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปในอนาคตตามการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปตลาดญี่ปุ่นใน 3 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม – มีนาคม) มีมูลค่า 5,268.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.72 สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก