นายอุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน หรือ EMA และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด เปิดเผยว่า ได้เตรียมยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน จำนวนหลายฉบับต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงประกาศตามกฎหมายอื่นๆ และประกาศที่ออกโดยกรุงเทพมหานคร อาทิ การห้ามจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เช่นการประชุมการสัมมนา
การสั่งปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ ห้างสรรพสินค้า การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร มาตรการเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing ในการจัดอีเว้นท์ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบโดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอีเว้นท์ อุตสาหกรรมไมซ์ และผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ผู้ให้บริการระบบแสงเสียงภาพ และเทคนิคพิเศษ ผู้ให้บริการออกแบบก่อสร้างฉากเวทีและบูธแสดงสินค้า ตลอดจนผู้จัดคอนเสิร์ต ผู้จัดเทศกาลดนตรีและเทศกาลบันเทิงต่างๆ ไม่สามารถที่จะประกอบกิจการได้ตามปกติ
ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งอยู่ในภาคธุรกิจ SME ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวของกระแสเงินสดไม่มากนัก เมื่อได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ในการป้องกันการระบาดโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ออกโดยภาครัฐที่กล่าวถึงข้างต้นมายาวนานกว่า 1 ปีเต็ม ถึงแม้จะเป็นกิจการที่ภาครัฐมิได้สั่งให้ปิด
แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องปิดกิจการลงโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ และยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด
นายอุปถัมป์ เปิดเผยอีกว่า ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการชั่วคราว และบางส่วนได้ปิดกิจการเป็นการถาวรแล้วกว่าร้อยละ 60 ส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก ลูกจ้างบางส่วนก็ลาออกเพื่อเปลี่ยนสายงานไปทำงานในสายงานอื่น ที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบของ
โรคระบาดน้อยกว่าธุรกิจอีเว้นท์ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติจะขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะในสายงานอีเว้นท์ ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าความเสียหายของอุตสาหกรรมอีเว้นท์ ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 13,000 ล้านบาท พบว่า ในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และสูญเสียรายได้กว่าร้อยละ 70-80 หรือราว 10,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะทำให้เสียหายอีกไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000 ล้านบาท
ดังนั้น สมาคมธุรกิจสร้างสรรการจัดงาน หรือ EMA ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการรับจ้างและให้บริการจัดอีเว้นท์ 2.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : Meetings Incentives Conventions และ Exhibitions) 3.ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการระบบแสงเสียงภาพและเทคนิคพิเศษ 4.ผู้ประกอบการ การให้บริการออกแบบและจัดสร้าง บูธแสดงสินค้า ฉากและเวที
5.ผู้จัดเทศกาลดนตรีเทศกาลบันเทิงอื่นๆ จึงได้ทำหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ทางภาครัฐพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่กล่าวถึงข้างต้น ประกอบด้วย 1.ให้ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานในอัตรา 50% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4-6 เดือน หรือจนกว่าธุรกิจจะดำเนินกลับสู่สภาวะปกติ 2.ผ่อนผันค่าใช่จ่ายประกันสังคมส่วนนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือน และ3.นายจ้างที่หยุดกิจการชั่วคราว ขอให้ลูกจ้างที่ว่างงานได้รับประโยชน์ทดแทน จากกองทุนประกันสังคม 50-62%
“ทางสมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นให้สามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดจนกว่าวิกฤตการณ์การระบาดของ
โรคเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกลับคืนเป็นปกติ” นายอุปถัมป์ กล่าวในตอนท้าย
Post Views: 49