Update Newsสังคมสังคม/CSR

ม.กรุงเทพธนบุรี เปิดโครงการจัดการศึกษา ป.เอก “NEW BIZ Program”

ผศ.ดร.บังอร  เบ็ญจาธิกุล  อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  เป็นประธานเปิดโครงการจัดการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตสำหรับนักธุรกิจ หรือ ผู้บริหารยุคใหม่ “NEW BIZ Program Doctor of Business Administration (D.B.A.)”  คณะบริหารธุรกิจ  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมี .ดร.ชัยยงค์ พรหมวงค์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ดร.ดวงฤทธิ์  เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง  รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา นำคณะผู้บริหาร  บุคลากร และนักศึกษา เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา (BTU Sports Complex) มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี




ผศ.ดร.บังอร  เบ็ญจาธิกุล  เผยว่า  จากคำกล่าวที่ว่า “บ้านที่มั่นคงต้องมีฐานรากแข็งแรง” โดยสามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม  เช่นเดียวกับชีวิตของคนเราหากจะให้มั่นคงได้ คงได้ไม่อาศัยโชคช่วย แต่ต้องอาศัยการวาง “เสาเข็มชีวิต” ที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานของชีวิตที่นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต โดยสูตรความสำเร็จของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ขอให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการนำพาตนเองฝ่าฟันอุปสรรคน้อยใหญ่ไปถึงจุดหมายให้ได้   

สำหรับโครงการจัดการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตสำหรับนักธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปรียบเสมือนเสาเข็มชีวิตอีกหนึ่งเสาเข็มที่มีความมั่นคง เรามีความเชื่อมั่นว่า ผู้สนใจสามารถตัดสินใจลงหลักปักฐานได้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตศึกษาที่มีสภาพแวดล้อมในการนำประสบการณ์การทำงานมาเป็นฐานในการแสวงหาแนวคิด หลักการ ทฤษฎีมาเติมเต็มสำหรับการเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่แห่งยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่จะทำให้เกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” 

 

นอกจากนี้ภายในงาน ผศ.ดร.บังอร  ยังได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “ผู้ประสบความสำเร็จของเบื้องหลังความสำเร็จ” โดยสรุปสูตรความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้ 6 ข้อคือ

1.ใจรักไม่เลิก ลด ละ : เนื่องจากความรักเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับชีวิต หากเราทำงานด้วยความรักความชอบ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เรากระตือรือร้นที่จะช่วยสร้างศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มเปี่ยม ความรักช่วยให้เรามีความอดทนเข้มแข็งกับงานที่รับผิดชอบไม่ว่าหนักเบาเพียงใดแต่ใจสู้ไม่ถอย พร้อมรอคอยผลสำเร็จที่บังเกิดขึ้น เราไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แต่จะมีความคิดสร้างสรรค์กับงานที่ทำและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชีวิตของเราเอง

2.มุมานะและความเพียร : “ความสำเร็จไม่ใช่ความบังเอิญ แต่หากเกิดจากความตั้งใจและลงมือทำ” หนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของคนเราคือ ความมุมานะและความเพียร ทำให้นอกจากเราเกิดความตั้งใจจะแข่งขันกับตัวเองแล้ว ยังกล้าเดินเข้าสู่โลกภายนอกในปัจจุบันซึ่งเป็นโลกยุคแห่งการแข่งขัน ซึ่งการที่เราจะลงแข่งขันได้ ย่อมต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนมาทุกรูปแบบ หากเราไม่มีความมุมานะและความพยายามเป็นแรงผลักดันหรือขับเคลื่อน การที่ชนะได้นั้นคงเป็นเรื่องไกลและยากยิ่งนัก สุดท้ายเราจะอยู่หลังสุดตามใครไม่ทัน เพราะทุกคนที่ตัดสินใจลงสนามแข่งขันย่อมต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือ “ชัยชนะ”

3.เรียนรู้ความขยัน : การที่เรามีพฤติกรรมในการทำงานที่ไม่นิ่งดูดาย ไม่รังเกียจ  ไม่ย่อท้อ ต่อภาระหน้าที่อันสุจริต สังคมยอมรับ ทั้งทำเพื่อตัวเองและผู้อื่นหรือส่วนรวม มีความสม่ำเสมอ โดยประการสำคัญคือ เราต้องขยันแบบมีสติปัญญากำกับ สติคือ การรู้เท่าทันกายใจของเราเอง และสติทำให้เกิดปัญญาคือความเข้าใจในโลกตามความเป็นจริง เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อความล้มเหลว ความพลาดพลั้ง

4.มั่นไม่กลัวอุปสรรค : คนเราบางครั้งไม่ทันที่จะลงมือทำอะไรก็เริ่มรู้สึกกลัวแล้ว กลัวที่จะขาดทุน กลัวทำงานออกมาไม่ดี เพราะใจไม่ยอมรับความจริง ไม่อยากผิดหวัง ไม่อยากเสียใจ ไม่อยากท้อแท้กับเรื่องไม่ดีที่เกิดขึ้น ความกลัวเป็นสาเหตุให้เราเริ่มขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่อยากลงมือทำ ทำไปทำไม เดี๋ยวจะต้องเจอปัญหาสารพัด นั่น นี่ โน่น หากเราต้องการความสำเร็จเราต้องขจัดความกลัวต่ออุปสรรคทั้งปวง ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง คือรู้จักตัวเองให้มากขึ้น มีความกล้าหาญชาญชัย คิดในทางบวก รู้จักวางตัว    เพราะความกลัวเกิดจากการไม่มั่นใจในตัวเอง และการมองเห็นคุณค่าตัวเอง เมื่อใดที่เรามองเห็นคุณค่าตัวเองและสิ่งที่เรามี จะสามารถเอาชนะความกลัวไปได้หมด             

5.มีเป้าหมายหลักชัดเจน : หากเราต้องการความสำเร็จต้องเริ่มต้นด้วยการมีเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งไม่มีใครกำหนดเป้าหมายได้ดีเท่าตัวของเราเอง หากเราไม่มีเป้าหมายความสำเร็จจะเลือนราง หากเราลงมือทำอย่างตั้งใจและเต็มที่ ทำให้สามารถควบคุมความสำเร็จได้อย่างสิ้นเชิง วิธีการสร้างเป้าหมายคือถามใจตัวเองว่า  เราต้องการอะไร จากนั้นลงมือเขียน กำหนดเวลา ดูช่องทางที่เราจะเดินไปสู่เป้าหมาย ต่อมาคือวางแผนพร้อมลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง 

6.เน้นการลงมือทำ : “ไม่มีทางลัดใดสู่ความสำเร็จเท่ากับการลงมือทำ ทุกความสำเร็จมาจากการลงมือทำ อย่าหวังความสำเร็จใดโดยไม่ลงมือ” โดยการลงมือทำที่ไม่มีการวางแผนและไม่ถูกต้องย่อมต้องเสี่ยงต่อความล้มเหลว การรู้ว่าจะทำอะไรนั้นง่าย แต่การลงมือทำนั้นเป็นเรื่องยาก ทว่าขอเพียงเรามีความจริงจังและจริงใจ มีความคิดอันยิ่งใหญ่ที่จะทำงานหนักกว่าใคร พร้อมทั้งเปลี่ยนการกระทำในชีวิตเดิมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม  ความสำเร็จนั้นไม่ไกลเกินฝัน ดังคำกล่าวที่ว่า การเป็นส่วนหนึ่งของคน 1% ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของโชคลาง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจ การโฟกัสที่เป้าหมายอย่างแน่วแน่ และการมีระเบียบวินัยในตนเอง

นี่คือความสำเร็จ 6 ขั้นตอนของ “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” หญิงเก่งแห่งวงการศึกษา ที่จะนำคุณไปสู่คนคุณภาพและความสำเร็จในยุคดิจิทัลไม่เพียงแค่เรื่องหน้าที่การงานเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงความสำเร็จในชีวิตทุกด้านทุกมิติด้วย