Update Newsกระทรวงศึกษาธิการสังคมสังคม/CSR

รมช.ศธ. “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ลงพื้นที่ชัยภูมิ เยี่ยมสาวบ้านแต้ /ตามการดำเนินงาน กศน.อำเภอเกษตรสมบูรณ์-ภักดีชุมพล

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) ร่วมเสวนาการจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต กับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) โดยนายจรูญศักดิ์ พุดน้อย ผอ.กศน.จังหวัดชัยภูมิ, นายสนอง มาลัยขวัญ นายอำเภอเกษตรสมบูรณ์, นางสาวอัจฉรา อาษาสู้ นายอำเภอภักดีชุมพล ให้การต้อนรับ ณ ค่ายลูกเสือภูกระแต อําเภอเกษตรสมบูรณ์ และสำนักงาน กศน. อําเภอภักดีชุมพล

รมช.ศธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิครั้งนี้อาจจะไม่ได้ลงไปตรวจเยี่ยมในทุกอำเภอ แต่มีความตั้งใจจริงเพื่อมารับฟังเสียงสะท้อน ข้อเสนอแนะในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องชื่นชมผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย ในโครงการและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ห้องสมุดประชาชน อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านประจำหมู่บ้าน (บ้านหนังสือชุมชน) ตลอดจนการนำนโยบาย กศน. WOW ไปสู่การปฏิบัติ



 

 

 

 

ภายใต้การนำของผู้บริหาร ครู และบุคลากร กศน. ซึ่งเป็นคนพันธุ์พิเศษ ในการสร้างศรัทธาและความไว้วางใจในการจัดการศึกษาแก่ประชาชน ทั้งนี้อยากให้ครู กศน.ทุกคน ยึดหลักอิทธิบาท 4 เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต นำหลักธรรมมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องยอมรับว่า การทำงานของ กศน.จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน เครือข่ายของ ศธ. ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาช่วยเสริมในหลาย ๆ ด้าน



ในการนี้ได้รับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา ที่เป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ทุกพื้นที่ในทุกครั้ง อาทิ การประสานเครือข่ายการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา กศน.ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในจังหวัดชัยภูมิ ทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา อาจต้องดำเนินการในลักษณะการจัดทำ MOU ระหว่าง กศน.กับสถาบันการศึกษา
พร้อมทั้งจัดให้มีการแนะนำแนวทางในการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม, ปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก รองรับครอบครัวแหว่งกลาง ที่พ่อแม่ไปทำงานในกรุงเทพ ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งส่วนมากมีรายได้น้อย จึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในทุกมิติ ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวนการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนลงมา ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่ 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ศึกษาธิการภาค 13 และรักษาการศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิเร่งบูรณาการหารือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด เพื่อปักหมุดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนเอง ก็จะนำเรียน รมว.ศธ. ถึงเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนหารือร่วมกับเลขาธิการ กพฐ. เพื่อออกแบบและหาแนวทางที่ดี มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ของพื้นที่อย่างเป็นระบบ