รมว.พม. เปิดการประชุมวิชาการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560
วันนี้ (26 เม.ย. 60) เวลา 10.00 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 ระดับภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เนื่องในโอกาสวันสังคมสงเคราะห์โลก เรื่อง “การส่งเสริมชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสถานทูตประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิค นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคมจากหน่วยงานรัฐและเอกชน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจในการส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งสมาพันธ์ นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้มีวันสังคมสงเคราะห์โลก โดยมีหัวข้อการประชุมตามวาระโลกเพื่อการสังคมสงเคราะห์และการพัฒนาสังคม ซึ่งประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดให้มีงานวันสังคมสงเคราะห์โลกตั้งแต่ ปี 2551 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงาน ตามแนวทางที่สหประชาชาติ และสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ โดยการจัดงานในครั้งนี้ นับเป็นเวทีที่จัดขึ้นในระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกเป็นครั้งแรก ตามการขอความร่วมมือของสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปี 2560 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ ได้จัดการประชุมวิชาการสวัสดิการสังคมและ สังคมสงเคราะห์ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ครั้งที่ 9 เนื่องในวันสังคมสงเคราะห์โลก ประจำปี 2560 ในหัวข้อเรื่อง “การส่งเสริมชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ต่อสาธารณชนในระดับภูมิภาค เอเชีย – แปซิฟิก และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการสังคม และพัฒนาสังคม ระหว่างผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์และผู้ปฏิบัติงาน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการดำเนินงานต่อไป พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เป็นเป้าหมายใหญ่ของทุกคน ซึ่งเป็นการรวมมิติการพัฒนาที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทั้งในส่วนของชุมชนที่มีองค์ประกอบไม่เพียงแต่เฉพาะด้านภูมิศาสตร์ หรือสังคมวิทยาเท่านั้น รวมถึงด้านจิตวิทยาในมุมของความเอื้ออาทร ความรัก และความมุ่งมั่น และในส่วนของสิ่งแวดล้อม มีองค์ประกอบทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี และสังคม ดังนั้น แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ครอบคลุมไปทั่วทั้งโลก จึงควรระบุไว้เป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และเพื่อให้การดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการประสบความสำเร็จ โดยประชาชนและประเทศที่เกี่ยวข้องต้องเชื่อมั่นในศักยภาพภายในและคุณค่า ของประชาคม คนที่อาศัยอยู่ในหรือใกล้เคียงกับชุมชนต้องมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอนของการตัดสินใจและการปฏิบัติ นอกจากนี้ ผลประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพื้นที่โดยรอบ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ต้องได้รับการบำรุงรักษาและมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ “การประชุมในวันนี้ แสดงให้เห็นภาพของการดำเนินงานที่ผ่านมา และเป็นแนวทางในการพัฒนาการทำงาน เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้บรรลุผลตามความต้องการ โดยผลการประชุมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายเครือข่าย การรวบรวมองค์ความรู้ด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม และการพัฒนามุมมองในการดำเนินงานให้ทันกับ โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และภาคีเครือข่ายส่วนราชการ องค์กรเอกชน ที่ดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม และสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนองค์กรภาคธุรกิจที่ตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม มีโอกาสในการพัฒนาความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันมากขึ้น มีการประสานพลังประชารัฐ ในระดับประเทศ สู่ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย