เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วท. กำลังดำเนินโครงการจัดตั้งโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบิ๊กร็อก (Big Rock) เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ในส่วนของวิทย์สร้างคน โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะภายในปี 2565 ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้เป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน จากปัจจุบันที่มีเพียง 13 คน เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการการพัฒนาของประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะกำลังคนด้านวิศวกรที่กำลังขาดแคลน
รมว.วท.กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจภาพรวมของตลาดแรงงานไทย พบว่าวิศกรเป็นหนึ่งในอาชีพในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งวิศวกรวิจัย วิศวกรออกแบบ วิศวกรปฏิบัติหรือนวัตกร เป็นต้น ซึ่งสายงานวิศวกรมีความต้องการจ้างงานสูงเป็นอันดับ 1 คือ ร้อยละ 17.1 แต่จำนวนผู้สมัครมีเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกร จึงจำเป็นต้องบ่มเพาะตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา พร้อมกับนำแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM) มาใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ผ่านโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ที่จะเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ ทั้งสร้างหุ่นยนต์ โดรน สมาร์มฟาร์มเมอร์ ฯลฯ และนวัตกรรมในรูปแบบใหม่
รมว.วท. กล่าวต่อว่า เบื้องต้นโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม จะร่วมมือกับโรงเรียนที่มีความพร้อม จำนวน 30 โรงในเครือข่ายโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และโรงเรียนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยของ วท. กับ 50 วิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ อาทิ วท.ชลบุรี วท.กำแพงเพชร วท.ปราจีนบุรี วท.เพชรบุรี วท.พังงา วท.นครศรีธรรมราช วท.ปัตตานี วท.ตรัง วท.จันทบุรี วท.มาบตาพุด วท.ลำพูน วท.น่าน วท.เชียงราย วท.อุดรธานี วท.อุบลราชธานี วท.สกลนคร เป็นต้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ โดยใช้บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จ.ปทุมธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบให้อาจารย์จากสถานศึกษาต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปพัฒนาต่อยอดในสถานศึกษาของตนเอง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ทั้งที่อยู่ในโครงการที่ สวทช. ดูแลอยู่ เช่น เด็ก JSTP:Junior Science Talents Project) และนักเรียน นักศึกษาทั่วไปที่สนใจ ได้เรียนรู้วิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ เช่น วิศวกรรมไฟฟ้า โยธา เครื่องกล เคมีฯลฯ จากนั้นจะขยายผลในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวะศึกษาที่มีความพร้อมอีก 150 แห่งในทุกภูมิภาค
Post Views: 67