มูลค่าส่งออกเดือนเมษายนขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี คาดเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มเติบโต 9% มูลค่าส่งออกในเดือนเมษายนอยู่ที่ 21.43 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ 13.1% YoY จากเดือนก่อน 8.5% และเมื่อหักทองคำออก มูลค่าส่งออกเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ +28.9% โดยสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อาทิ ผลิตภัณฑ์เคมี (+65.7%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+55.5%) ยานพาหนะและอุปกรณ์ (+52.6%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (+45.2%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (+33.3%) และหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (+21.7%)
ขณะที่การส่งออกสินค้าบางประเภทยังคงหดตัวจากปัจจัยเฉพาะด้าน เช่น ข้าว เนื่องจากการแข่งขันสูง และน้ำตาลทรายที่เป็นผลมาจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง ด้านตลาดส่งออกพบว่าตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และ CLMV เติบโตดีขึ้น ส่วนตลาดญี่ปุ่นและจีนขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่อาเซียน-5 ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของตลาดสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
การส่งออกของไทยยังคงมีแรงส่งการเติบโต แม้จะมีช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ แต่มูลค่าการส่งออกเดือนเมษายนนับว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม (21.38 พันล้านดอลลาร์) และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีในทุกเดือนเมษายนที่ 17.81 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่หักทองคำในเดือนเมษายนยังคงใกล้เคียงกับเดือนก่อนซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนการขยายตัวของการส่งออกในระยะข้างหน้า
วิจัยกรุงศรีคาดในไตรมาส 2/2564 ยังคงเห็นการส่งออกเติบโตเป็นเลขสองหลัก เนื่องจากผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน กอปรกับได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าหลังจากผลของฐานต่ำหมดลง การส่งออกของไทยจะกลับมาเติบโตในเลขหลักเดียว
แต่ยังคงได้แรงหนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเปิดประเทศ และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนซึ่งจะช่วยเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุด UNCTAD คาดการค้าโลกในปีนี้จะเติบโตถึง 19% จากปัจจัยบวกดังกล่าววิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2564 จะขยายตัว 9.0% (จากเดิมในเดือนเมษายนคาดไว้ที่ 6.0%) ซึ่งนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้
พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท ทางการคาดอาจกู้ในปีนี้ก่อน 1 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป กำหนดกรอบสำหรับการนำไปใช้ใน 3 แผนงาน คือ 1)แผนเยียวยาหรือชดเชยแก่ประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน 300,000 ล้านบาท 2)แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 170,000 ล้านบาท และ 3)แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท
แม้จะมีปัจจัยเชิงบวกจากมาตรการภาครัฐที่จะมีเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงการคลังระบุว่าอาจจะกู้เงินจากพ.ร.ก.ฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท ในปีนี้ก่อนประมาณ 1 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับมาตรการเยียวยาที่ภาครัฐจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป วงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ผ่านโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูง จึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังท่ามกลางความเป็นไปได้ของการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกสามของ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและอาจยืดเยื้อรุนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ วิจัยกรุงศรีจึงยังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.0% และยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
ในส่วนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯและยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางจีนอาจคงนโยบายผ่อนคลายต่อไปหลังภาคการผลิตมีสัญญาณชะลอตัว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนสหรัฐฯเพิ่มตามตลาดคาด ขณะที่มาตรการภาครัฐจะหนุนการเติบโตในไตรมาสที่ 2/2564 และช่วงครึ่งปีหลัง ในเดือนมีนาคมดัชนีราคาบ้านเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี ส่วนในเดือนเมษายนดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (Core PCE) เพิ่มขึ้น 3.1% YoY สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2535 ขณะที่รายจ่ายเพื่อการบริโภคขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สำหรับในเดือนพฤษภาคม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโกแตะระดับสูงสุดในรอบ 38 ปี ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 พฤษภาคม ลดลงสู่ระดับ 4.06 แสนรายต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตลาดแรงงานยังปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เผชิญข้อจำกัดหลังจากทยอยกลับมาเปิดดำเนินการ วิจัยกรุงศรีคาดว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2/2564 และอาจแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยหนุนทั้ง (i) ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐผ่าน American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งจัดสรรเพื่อชดเชยการว่างงานแก่ชาวอเมริกันรายละ 300 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์จนถึงสิ้นเดือนกันยายน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่มูลค่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยหนุนความเชื่อมั่น
ส่วนเม็ดเงินคาดว่าจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2564 เป็นต้นไป ล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เปิดเผยแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2565 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ มีมูลค่าถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 (ii) ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน ล่าสุดครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส และ (iii) แรงส่งจากการทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการ
ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยูโรโซนเพิ่มสูงขึ้น คาดครึ่งปีหลังฟื้นตัวแข็งแกร่ง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนเดือนพฤษภาคมแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2561 ที่ 114.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีโดยสถาบัน Ifo ปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 99.2 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของฝรั่งเศสแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2561 ที่ 106.0
ดัชนีความเชื่อมั่นในยูโรโซนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสัญญาณบวกต่างๆ ทั้ง (i) การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ล่าสุดอยู่ที่ 4.3 หมื่นราย จาก 2.02 แสนรายเมื่อวันที่ 15 เมษายน โดยภาคธุรกิจเริ่มทยอยเปิดดำเนินงานหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และ (ii) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งมีผู้ได้รับแล้วอย่างน้อย 1 โดสคิดเป็น 36.6% ของประชากร ล่าสุดที่ประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายให้ชาวยุโรป 70% ได้รับวัคซีนครบถ้วนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ พร้อมกำหนดให้สามารถใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัลในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อรองรับการเปิดพรมแดน คาดว่าความคืบหน้าเหล่านี้จะช่วยหนุนการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
แรงส่งในภาคการผลิตของจีนอาจแผ่วลง คาดธนาคารกลางจีนยังคงนโยบายผ่อนคลายควบคู่กับการป้องกันความเสี่ยงต่อไป กำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนเติบโต 57.0% YoY ชะลอจากเดือนมีนาคมที่ขยายตัวถึง 92.3% โดยกำไรของรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนต่างเพิ่มขึ้น 170.3% และ 59.3% ตามลำดับ ตัวเลขล่าสุดสะท้อนว่าการเติบโตในภาคการผลิตของจีนอาจชะลอตัว แม้ว่ากำไรของอุตสาหกรรมโลหะและเคมีภัณฑ์ต่างเติบโตในอัตราสูงถึง 484% และ 272% ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการเก็งกำไร ทางการจึงได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมการปั่นราคา
ในช่วงเดียวกันนี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกประกาศห้ามสถาบันการเงินดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์เพื่อป้องกันความเสี่ยง สะท้อนว่า PBOC เพิ่มความเข้มงวดแบบเจาะจงเป้าหมายเพื่อกำกับดูแลภาคธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยง ขณะที่ยังจำเป็นต้องคงแนวทางนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงต่อไป
Post Views: 45