Update Newsธุรกิจ-เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม

วิศวะจุฬาฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านน้ำ ประชุมระดับนานาชาติ THA 2019

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สวก. กรมชลประทาน และ ภาคีเครือข่ายด้านน้ำ จัดการ ประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มุ่งสู่ความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน อาหาร และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย หรือ THA 2019 International Conference on Water Management and Climate Change towards Asia's Water-Energy-Food Nexus and SDGs เพื่อเปิดเวทีให้นักวิจัย วิศวกร นักวิชาการ ระดับหัวกะทิในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนความรู้แชร์แนวคิด และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ชลประทาน การจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีนักวิจัยทั้งชาวไทยและตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียให้ความสนใจเข้ามาร่วมอย่างคับคั่ง 


และในการนี้ได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง นักวิจัย นักวิชาการ จากองค์กรต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ




โดยการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงยุทธศาสตร์ของไทย ในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภูมิภาคภายใต้แนวคิด “ความยั่งยืน ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคต”


บทสรุปจากเวทีการประชุมครั้งนี้ผู้ร่วมประชุมสะท้อนแนวคิด และแชร์ประสบการณ์ ในการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มุ่งสู่ความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน อาหาร เพื่อพัฒนาที่ยั่งยืนตามบริบทของแต่พื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจ 


ดร.โมฮัด ซากี้ ผอ.สถาบันวิจัยอุทกวิทยา ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่ามาเลเซียมีการบริหารจัดการน้ำคล้ายคลึงกับประเทศไทย คือมีการจัดทำแผน โดยมุ่งประเด็นน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม ครัวเรือน สิ่งแวดล้อม อย่างการสร้างเขื่อนจะคำนึงถึงฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย นอกจากนี้ในกรณีเกิดสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีการปฏิบัติการยากขึ้นต้องใช้งานวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย ทั้งในระดับปฏิบัติการและการวางแผนการทำงาน


ส่วนศาสตราจารย์ อลัน มิลาโน นักวิชาการจาก Mindanao State University Iligan Institute of Technology (MSUIIT) ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เนื่องจากฟิลิปปินส์มีประชากรจำนวนมาก และประสบปัญหาเรื่องพายุไต้ฝุ่นและภัยพิบัติบ่อยครั้ง ก็จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ พลังงาน จึงเกิดโมเดลการแก้ปัญหาอาทิ การวางแผนการจัดเก็บน้ำหน้าฝนไปใช้ในหน้าแล้งให้เพียงพอกับภาคครัวเรือน และมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลในพื้นที่ ส่งน้ำไปให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการจัดการปัญหาในประเทศไทย


ด้านนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านการบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ภายหลังอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ 20 ปี เพื่อใช้เป็นแผนบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วน ทั้งนี้แนวบริหารเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร-อุตสาหกรรม การบริหารลุ่มน้ำ การบรรเทา-ป้องกันอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูต้นน้ำ 

โดยรัฐบาลได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพอากาศปัจจุบันมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก ทำให้การบริหารจัดการต้องมีการติดตาม และสามารถปรับการบริหารได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์


และปิดท้ายที่นายสมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยพื้นฐานและพัฒนานักวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว. มีหน้าที่เติมเต็มสนับสนุนข้อมูลจากงานวิจัยให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการข้อมูลจากงานวิจัย และพัฒนาตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยยุทธศาสตร์การสนับสนุนงานวิจัย สกว. ปัจจุบันมุ่งเน้นการหนุนเสริมงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับสังคม และเป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง สกว.เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยามีหน้าที่เติมเต็มในเรื่องของสนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยี และงานวิจัยให้ทุกภาคส่วน 

โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทั้งนี้ตนมองว่าบทเรียนการแก้ปัญหาด้านการแก้ปัญหาด้านน้ำที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของประเทศอาเซียนที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ้างแล้ว แต่ยังต้องถอดบทเรียนความสำเร็จจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศที่ยังคงประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงาน 


อนึ่ง การประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร (Water-Energy-Food Nexus) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ในภูมิภาคเอเชีย หรือ THA 2019 International Conference on Water Management and Climate Change towards Asia's Water-Energy-Food Nexus and SDGs เกิดจากความร่วมมือ ระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมอุทกวิทยาไทยกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2562 ณ โรงแรม สวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ