สสส. เผยความสำเร็จ15 ชุมชนนำร่อง สร้างสุขภาวะคนจนเมืองรับสังคมสูงวัย
สสส.จับมือม.มหิดล เสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เตรียมความพร้อมสู่สังคมวัยในพื้นที่นำร่อง 3 ภาค 15 ชุมชน 1 ปีที่ผ่านมา เผยผลดีเกินคาด เกิดนวัตกรรมสุขภาพ ทักษะอาชีพ ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ลดช่องว่างระหว่างวัย เล็งขยายผลไปทั่วประเทศ ตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาและสนับสนุนโครงการเสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมของชุมชน เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ให้พร้อมใน 3 มิติ คือ ด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ โดยนำร่องใน 3 ภูมิภาค จำนวน 15 ชุมชนจาก 3 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.61 ได้จัดงานนำเสนอข้อมูล เผยแพร่ความสำเร็จของโครงการฯ พร้อมการเสวนา “สานพลังเครือข่ายคนจนเมือง เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานระหว่างภาคีเครือข่ายพื้นที่นำร่อง โครงการ การสร้างองค์ความรู้เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานในระดับพื้นที่ โดยมี นายพิทยา จินาวัฒน์ ประธานกรรมการการบริหารคณะที่ 2 สสส. เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นักวิชาการด้านการสร้างเสริม สุขภาวะ ภาคีเครือข่ายพื้นที่นำร่อง เข้าร่วมงาน ณ ลานกิจกรรมพิพิธบางลาพู ถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายพิทยา เปิดเผยว่า สสส. ได้พัฒนากรอบ การดำเนินงานให้ครอบคลุมการดูแลสุขภาวะของทุกคนในประเทศไทยเพื่อให้บรรลุและไปถึงวิสัยทัศน์ที่ สสส. ได้วิเคราะห์ปัญหาทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งมีเหตุปัจจัยเสริมอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำ ทางสังคมหรือ ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ เช่น สุขภาพ เพศ ศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน รายได้ และการรวมกลุ่ม ส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าถึง หรือ เข้าถึงได้ยาก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวทาง และวิธีการพิเศษในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม ในการเข้าสู่สังคมสูงวัยและเน้นสร้างสรรค์กระบวนปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีหลักในการดำรงชีพและการดูแลระยะยาวจากครอบครัวและชุมชนที่พอเพียงและยั่งยืน ได้เน้นไปที่เป้าหมายที่เป็นคนจนและอาศัยอยู่ในเขตเมืองนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาวะให้กับคนจนเมืองทุกช่วงวัย พร้อมระบุว่า สสส.มุ่งสนับสนุนให้คนไทยมีขีดความสามารถ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง มีความพร้อมทั้งร่างกายที่สมบูรณ์ สติปัญญาที่รอบรู้ มีจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม มีความเพียร มีโอกาสและสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต "เราหวังให้โครงการนี้เกิดประโยชน์กับตัวของผู้สูงวัยเอง ชุมชนและกิจกรรมที่ร่วมกันของชุมชนในกลุ่มคนทุกช่วงวัยเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี คิดแก้ไขปัญหา ด้วยตัวเอง เมื่อเราถอนตัวออกไป ภาคืเครือข่ายสามารถอยู่และเชื่อมต่อกันได้อย่างยั่งยืน หลักสำคัญที่เราเน้นคือ สุขภาพดีที่จะนำพาไปสูส่วนดีอื่นๆที่จะตามมา เช่น เมื่อ สุขภาพดี สังคมดี เศรษฐกิจดี คนแก่ไม่จำเป็นต้องรอแต่เงินช่วยเหลือ แต่จะเป็นคนแก่ที่สุขภาพดี มีสติปัญญา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถแก่ลูกหลาน มีอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ด้วย" นายพิทยา กล่าวด้วยว่า การทำงานของสสส.และภาคีเครือข่าย ทำงานเชิงรุก เรื่มที่ต้นน้ำ เช่น การป้องกัน ความเจ็บป่วยด้วยการเน้นความแข็งแรงของร่างกาย เช่น การมีพื้นที่กลางเพื่อใช้่ในการออกกำลังกาย ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ไม่นั่งหรือนอนอยู่กับที่ สร้างกิจกรรมเพื่อทำในบ้าน ร่วมกิจกรรมในพื้นที่กลางกับกลุ่มคนทุกวัย เช่นเรื่องการออม ซึ่งเป็นความต่อเนื่องจากการสร้างรายได้ กิจกรรมความสนุกสนานในชุมชน ที่จะไม่ทอดทิ้งกัน สร้างความรู้สึกว่าทุกคนมีคุณค่า ซึ่งจากโครงการฯนี้พบว่า สังคมเมือง เริ่มเปิดประตูบ้านหากันแล้ว คนแก่่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าจากการเล่าประสบการณ์ ส่วน เด็กๆเองก็จะเห็นประโยชน์ของผู้สูงอายุ ประธานกรรมการการบริหารคณะที่ 2 สสส.กล่าวว่า สำหรับพื้นที่นำร่อง 3 ภูมิภาค จำนวน 15 ชุมชน จากทั้งหมด 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ผลสัมฤทธิ์ในระดับพื้นที่ ทั้งด้านกลไกและรูปแบบการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยตามบริบทของชุมชนนั้นๆ เกิดชุดรูปแบบกิจกรรม และนวัตกรรมที่สร้างเสริมสุขภาวะให้แก่ผู้สูงวัย เกิดทักษะอาชีพ การถ่ายทอดภูมิปัญญา และการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเยาวชนและผู้สูงวัย และจะนำผลงานนี้ไปเป็นโมเดลขยายไปยังในจังหวัดต่างๆต่อไป สำหรับ 15 ชุมชนนำร่อง ที่จ.อุบลราชธานี มี ชุมชนเกตุแก้ว อ.วารินชำราบ , ชุมชนลับแล ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ, ชุมชนวังแดง ต.ในเมือง อ.เมือง,ชุมชนวังทอง ต.ในเมือง อ.เมือง และชุมชนวัดโรมัน ต.ในเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชมนันทาราม ต.หายยา อ.เมือง ,ชุมชนย่านวัดเกตุ ต.วัดเกตุ อ.เมือง, ชุมชนวัดหัวฝาย ต.ช้างคลาน อ.เมือง กรุงเทพมหานคร ชุมพนเพชรพระราม ริมถนนเลียบทางรถไฟสายแปดริ้ว แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง,ชุมโรงหวาย ซอยขวัญจันทร์ 2 อ่อนนุช เขตสวนหลวง ,ชุมชนพูนทรัพย์ แขวงคลองถนน เขตสายไหม ,ชุมชนภูมิใจ ประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา,ชุมชนริมทางรถไฟพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา ,อ่อนนุช 14 ไร่ ซอยสุขาภิบาล 15 ถนนอ่อนนุช เขตประเวศ ชุมชนประชาอุทิศ 90 ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และที่ปทุมธานี ชุมชนหลักหก ต.หลักหก อ.เมือง ดร.วีรวัฒน์ แสนศรี ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างสุขภาวะคนจนเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือมุ่งเน้นให้ผู้สูงวัยมีสุขภาวะที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมใน 3 มิติ ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ นอกจากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว ยังสร้างรายได้เข้ากลุ่มอีกด้าน จากความสำเร็จดังกล่าวทางโครงการจึงจัดกิจกรรมเผยแพร่ การดำเนินงานที่เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมสู่สาธารณะให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิด และกระบวนการทำงานระหว่างภาคเครือข่าย และพื้นที่นำร่อง นางดาวประกาย บัวล้อม ตัวแทนแกนนำจากพื้นที่นำร่อง ชุมชนย่านวัดเกตุ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้ดำเนินงานในชุมชนโดยสร้างชุดกิจกรรม "ข่วงผญา" ขึ้น ณ ลานต้นแก้ว วัดเกตุการาม ซึ่งเป็นลานที่คนในชุมชนมาพบปะ พูดคุย เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงงานประเพณีทางศาสนา และสังคมด้วย และความเป็นศูนย์กลางนี้ แกนนำชุมชนจึงได้ดำเนินการหาเครื่องมือที่จะโน้มน้าวเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เกิดขึ้น โดยนำเอา "ตุงไส้หมู" มาเป็นตัวกลางสร้างพื้นที่ พาผู้สูงวัย และคนในช่วงวัยอื่นๆ มาอยู่รวมกัน เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ชีวิตกันโดยธรรมชาติ นางจำปี มรดก ตัวแทนแกนนำจากพื้นที่นำร่อง ชุมชนเกตุแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี บอกถึงการดำเนินงานของชุมชนว่า เริ่มจากการรวมกลุ่มกันของแม่บ้าน และสตรีในชุมชน ประกอบกับผู้นำชุมชนเล็งเห็นว่าสตรีเป็นกลุ่มคนสำคัญ มีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของครอบครัว ชุมชน และประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการ "เสริมสร้างบทบาทสตรีในชุมชน สร้างอาชีพพลังสตรีเปลี่ยนชุมชนให้น่าอยู่" เพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำแก่สตรี ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มจากจัดอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับการหารายได้ และแนวคิดในการสร้างอาชีพด้วยธุรกิจของสตรีในชุมชน จากนั้นจัดทำแผนธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่มสตรีในชุมชนตามบริบทของพื้นที่ จากนั้นจึงทดลองเป็นผู้ประกอบการโดยนำร่องทำขนม "กล้วยเกตุแก้ว" ขายในชุมชน ซึ่งผลที่่ได้รับ ทำให้กลุ่มสตรีในชุมชนเกิดความตระหนักและกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้ พร้อมทั้งเรียนรู้การใช้จ่ายเงิน การออม และการลงทุนเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในอนาคตได้