ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าวผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4 ปี 2564 และตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงสร้างตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงานลงและเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้หรือลดรายได้จากการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน รวมถึงแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์แรงงานอย่างต่อเนื่อง
โดยลงพื้นที่สำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นข้อมูลดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานที่สำคัญ เช่น การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน การจ้างงาน และผลิตภาพแรงงาน เป็นต้น สถานการณ์แรงงานไทยไตรมาส 4 ปี 2564 จะเป็นอย่างไร มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สำนักงานสถิติแห่งชาติขอนำเสนอผลสำรวจและตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญให้ประชาชนผู้สนใจรับทราบและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ มีรายละเอียดดังนี้
โครงสร้างกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 ผลสำรวจ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 57.2 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.6 ล้านคน และในจำนวน 38.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน (ไตรมาส 3 จำนวน 37.7 ล้านคน) ผู้ไม่มีงานทำ 6.3 แสนคน (ไตรมาส 3 จำนวน 8.7 แสนคน) และเป็นผู้รอฤดูกาลประมาณหนึ่งแสนคน ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวน 18.5 ล้านคน โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 คือ ร้อยละ 67.6 ทั้งนี้ ผู้ชายมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานมากกว่าผู้หญิง (ร้อยละ 76.0 ร้อยละ 59.7 ตามลำดับ) และเมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ อัตราการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานอายุ 55-64 ปี คือ ร้อยละ 68.8 ในขณะที่อายุ 65 ปีขึ้นไป คือ ร้อยละ 27.1
สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายขึ้น แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต อัตราการมีงานทำอยู่ที่ร้อยละ 66.3 โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ (ร้อยละ 33.2 และ ร้อยละ 21.6)
อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง เป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราการมีงานทำมากที่สุด รองลงมาคือ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง มีอัตราการมีงานทำสูงที่สุด ทั้งนี้เป็นการทำงานที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง (ร้อยละ 49.3) และน้อยกว่า 1 ชั่วโมง (ร้อยละ 39.8) มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น สำหรับกลุ่มอายุที่มีงานทำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยอัตราการมีงานทำอยู่ระหว่างร้อยละ 21 – 24 ในขณะที่การมีงานทำของเยาวชนหรือผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี อัตราการมีงานทำประมาณร้อยละ 9
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระหว่างไตรมาสเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมนั้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้มีงานทำภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิตระหว่างไตรมาส 3 และ 4 ปี 2564 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ ร้อยละ 1.3 และ ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้มีงานทำลดลง (-0.7%) และเมื่อเปรียบเทียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2563) พบว่า ผู้มีงานทำในภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต มีอัตราเปลี่ยนแปลงผู้มีงานทำลดลง (-1.2% และ -4.0%)
ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่า มีจำนวน 6.95 ล้านคน เป็นกลุ่มไม่ประสงค์ทำงานเพิ่ม 6.51 ล้านคน และประสงค์ทำงานเพิ่ม 0.44 ล้านคน สำหรับผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และประสงค์ที่จะทำงานเพิ่มนั้น เรียกว่า ผู้ทำงานต่ำระดับด้านเวลา คิดเป็นร้อยละ 1.2 ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (โอกาสเป็นผู้ว่างงานแฝง) คิดเป็นร้อยละ 1.9
สถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคน ในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4 เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ โดยระยะการว่างงานของผู้ว่างงาน ประมาณร้อยละ 62 เป็นการว่างงานระยะกลาง และเป็นการว่างงานของเยาวชนมากที่สุด ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.8 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.5 แสนคน
โดยผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน มีแนวโน้มว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ โดยจากสถิติการศึกษาในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับประมาณสามแสนคน และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการหางาน หรือสมัครงานของผู้ว่างงานทั้งที่เคยทำงานก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่าในช่วง 8-30 วันที่ผ่านมา มีการหางานและสมัครงาน ประมาณร้อยละ 50 (ไม่เคยทำงานมาก่อน ร้อยละ 54.5 เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 46.9)
ปัญหาการว่างงานระยะยาว ยังต้องจับตามอง ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูง คือ ร้อยละ 0.4 ในขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี
ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน จากผลสำรวจในไตรมาส 4 ปี 2564 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2564 สองแสนหกหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้
Post Views: 35