Update Newsท่องเที่ยว B Tripแหล่งเที่ยว

หลงเสน่ห์ อาหารพื้นถิ่น ชุมชนวิถี ….สตูล (ตอนจบ)

หลังอาหารมื้อสุดปลื้ม ก็ได้เวลาไปกันต่อยัง ถ้ำเลสเตโกดอน .....





ถ้ำเลสเตโกดอน







แล้วก็มาถึงถ้ำเลที่เพิ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรณีวิทยาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง ทำให้ชาวสตูลเจ้าของพื้นที่ต้องตระเตรียมประชุมหารือเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมและพร้อมสำหรับการมาเยือนจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ

มารู้จักถ้ำเลสเตโกดอนกันก่อน ถ้ำเลแห่งนี้ถือว่ายาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร ส่วนคำว่า “สเตโกดอน” คือชื่อของช้างดึกดำบรรพ์ เนื่องจากมีการพบฟอสซิลของช้างสเตโกดอนในถ้ำแห่งนี้และพบหินรูปร่างแปลกตา จึงนำมาซึ่งการสำรวจถ้ำและค้นพบซากฟอสซิลอีกมากมายภาย ตามผนังถ้ำยังพอเห็นฟอสซิลของสาหร่ายทะเลอีกด้วย

ก่อนเข้าสู่ภายใน เจ้าหน้าที่ให้รวมตัวเพื่อฟังที่มาและการปฏิบัติตัวเมื่อเข้าไปสู่ภายในถ้ำ ห้ามแตะต้องผิวของผนังถ้ำ เรียกว่าดูแต่ตามืออย่าต้อง อะไรประมาณนั้น หลังจากนั้นก็แจกหมวกกันน็อค เสื้อชูชีพ และไฟฉาย เมื่อเดินข้ามสะพานแขวนไปสู่ปากถ้ำ เจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมเรือแคนูไว้เป็นพาหนะในการเข้าไปชมความมหัศจรรย์กัน





จากข้อมูลเวปไซต์ SATUN GEOPARK บอกถึงลักษณะของถ้ำนี้ไว้ว่า “เป็นถ้ำอยู่ในเทือกเขาหินปูนทอดยาวมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ใต้ภูเขา ภายในถ้ำมีลักษณะคดเคี้ยวมีระยะทางจากปากถ้ำจนถึงทางออก สิ่งที่โดดเด่นของถ้ำแห่งนี้ที่สำคัญคือการพบซากดึกดำบรรพ์ของช้าง และ แรดสมัยไพลสโตซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้าง สกุล สเตโกดอน ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำเล สเตโกดอน”

ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเป็นซากกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ซี่ที่ 2 และ 3 ด้านล่างขวาของช้างดึกดำบรรพ์เชื่อกันว่าการพบเจอฟันกรามช้างสกุล สเตโกดอน เป็นจุดกำเนิดเรื่องราวการศึกษาค้นคว้าทางธรณีวิทยาในจังหวัดสตูล โดยใช้การบูรณาการทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะเกิดท้องถิ่นและประเทศชาติร่วมกัน”

...ด้วยระยะทางที่ยาวถึง 4 กิโลเมตรภายในถ้ำมีเพียงเสียงพายแคนูและแสงไฟสว่างวับๆแว่บๆจากไฟฉาย ในบางจุดยังได้ยินเสียงน้ำหยุดผ่านหินย้อยรูปทรงแปลกตา



















เราอยู่ภายในถ้ำกันนานเกือบสามชั่วโมง การนั่งเรือแคนูและแหงนมองดูความงดงามของถ้ำทำให้เกิดการเมื่อยล้า ไกด์นำทางจะคอยบอกตลอดเวลา ให้เราได้รู้ว่าช่วงไหนสามารถหย่อนขาลงไปเพื่อผ่อนคลาย ที่อะเมซิ่งและประทับใจที่สุดเห็นจะเป็นช่วงที่อยู่ภายในถ้ำที่กว้างใหญ่ราวกับห้องโถง ที่นี่เจ้าหน้าที่บอกให้ทุกคนดับไฟ และอยู่ในความเงียบ 1 นาที

ทุกอย่างเงียบสงัด.... และมืดมิด ....

นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่แม้จะลืมตา แต่กลับไม่เห็นอะไรเลยสักนิดเดียว ไม่มีแสงเล็ดลอดเข้ามาแม้แต่สักจุด ทุกอย่างเงียบกริบ เหลือเพียงเสียงลมหายใจกับน้ำที่หยดลงมา เข้าใจแล้วว่า.... คนที่อยู่ในโลกมืดนั้นเป็นอย่างไรจริงๆ ....

....หลังจากนั้นแคนูถูกพายไปอีกไม่นานนัก ก็ออกจากถ้ำซึ่งต้องนั่งเรืออีกราว 30 นาที นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับป่าชายเลน โดยการต่อเรือไปขึ้นบกที่ท่าเรือท่าอ้อย



“น้ำในถ้ำได้รับอิทธิพลจากน้ำในลำธารและน้ำทะเลขึ้นลงเป็นประจำทุกวัน การท่องเที่ยวภายในถ้ำจะต้องพายเรือลอดถ้ำและต้องพิจารณาระดับน้ำในถ้ำแต่ละวันด้วย แต่สามารถเข้าถ้ำได้ตลอดทุกฤดูกาล การท่องเที่ยวจะต้องติดต่อที่องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าล่วงหน้า เนื่องจากอุทยานธรณีสตูลจะเน้นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ นักท่องเที่ยวสามารถชมพิพิธภัณฑ์ทางธรณีก่อนเข้าถ้ำได้

 ขณะเดียวกันจะมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป” เจ้าหน้าที่นายหนึ่งเล่าให้ฟัง  

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล

ส่งท้ายทริปนำร่องกับโครงการเส้นทางสายกิน อาหารถิ่นในตำนานด้วยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล ซึ่งจัดแสดงในคฤหาสน์กูเด็น สร้างขึ้นโดยพระยาภูมินารถภักดี หรือตวนกูบาฮารุตดิน บินตำมะหง เจ้าเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.2441-2459 เป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบโคโลเนียล เพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่มิได้ประทับแรมต่อมาจึงใช้เป็นบ้านพักและศาลาว่าการเมืองสตูล





จนสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น สำนักงานเทศบาล ศาลากลางจังหวัดสตูล โรงเรียนเทศบาล 1 แล้วจึงใช้เป็นสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคง




ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูลเป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส จัดแสดงนิทรรศการและส่วนบริการ 10 ห้อง













ห้องที่ 1 ห้องข้อมูลข่าวสารห้องที่ 2 ห้องภูมิหลังเมืองสตูลห้องที่ 3 ห้องประชาสัมพันธ์ห้องที่ 4 ห้องวิถีชีวิตชาวสตูลห้องที่ 5 ห้องจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวห้องที่ 6 ห้องบ้านเจ้าเมืองห้องที่ 7 ห้องเรือนชานชาวบ้านห้องที่ 8 ห้องรับแขกร่วมสมัยกูเด็นห้องที่ 9 ห้องวัฒนธรรมชาวไทย-มุสลิมห้องที่ 10 ส่วนชั้นดาดฟ้า





.... การมาเยือนสตูลในทริปนี้ ไม่เพียงแต่เราจะได้สัมผัสกับอาหารพื้นถิ่น ในตำนาน และความงดงามของสถานที่ท่องเที่ยวที่ททท.จัดนำร่องมาเพื่อนำกลับไปปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอและประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวเท่านั้น

....หากแต่กลับพบว่า... ความประทับใจที่เกิดขึ้นในหัวใจของเรา สิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้งดงามเท่ากับน้ำใจของพี่น้องชาวสตูลเลย  

ขอบคุณนะ... ขอบคุณพี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่ทำให้เราได้รู้จักและรักมากขึ้น

________________

สำหรับท่านที่สนใจ ลองสอบถามได้

ถ้าไปชมสันหลังมังกร กินปู ติดต่อ ผญ. เจ๊ะอูหมาก ประธานกองทุนหมู่บ้าน ตันหยงโป บริการเรือท่องเที่ยว. 086-366-1137 เรือประชารัฐกองทุนหมู่บ้าน

ถ้าชอบล่องแพ ชมฟอสซิส ชมสันหลังมังกร นั่งแคนนู  อำเภอทุ่งหว้า ติดต่อ ผญ. สูตร. ประธานกองทุนบ้านท่าข้ามควาย 087-479-2904

หรือหากต้องการที่พักบนเกาะ ล้อมรอบด้วยวิถีชาวบ้าน ด้านหน้าเดินไปกลางทะเลชมสันหลังมังกรได้เลย ติดต่อรีสอร์ทชุมชนบากันใหญ่ น้องหลัน 083-398-5372