องคมนตรี ติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามการบริหารจัดการน้ำโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าม่วง จังหวัดสระบุรี พร้อมกับรับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการปฏิบัติการฝนหลวง ในการบรรเทาปัญหาช่วงหน้าแล้งเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของราษฎร
โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สร้างขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2532 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2541 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเขื่อนแห่งนี้ว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” อันหมายถึง “เขื่อนแม่น้ำป่าสักที่เก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน มีขนาดความจุ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี ได้ถึงจำนวน 159,500 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำเสริมให้แก่พื้นที่ชลประทานเดิมในทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ประมาณ 2,015,800 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณใช้น้ำโดยเฉลี่ย 260,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งยังสามารถบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก และพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน เช่น จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาซึ่งมีความหลากหลายของพันธุ์ปลา ประมาณ 130 ชนิดพันธุ์ ทำให้เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญของประเทศ ที่สร้างอาชีพและรายได้อันเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ 16 ปีที่ผ่านมาเขื่อนป่าสักสิทธิ์สามารถบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยจำนวน 471.95 ล้านบาทต่อปี และแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ถึง 10 ครั้ง
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนั้น ได้มีการนำเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาและอุทุกวิทยาที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น ระบบโทรมาตร เว็บไซต์ด้านพยากรณ์อากาศ และคอมพิวเตอร์ประมวลผลข้อมูล รวมทั้งมีการจัดทำโปรแกรมคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจากเส้นทางพายุ เพื่อให้สามารถพร่องน้ำออกจากเขื่อนได้ทันท่วงที และการจัดสรรน้ำในช่วงหน้าแล้ง ในสถานการณ์ปกติ จะเห็นได้ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะเน้นกิจกรรมในภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำรวมทั้งปีสูงถึงประมาณ 600 – 700 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของความต้องการใช้น้ำในทุกกิจกรรมและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต อันมีผลมาจากการเพิ่มฤดูกาลเพาะปลูกพืชของเกษตรกรจากการได้รับน้ำที่สะดวกขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่รับประโยชน์ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยมีคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานช่วยประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
จากนั้น เวลา 13.30 น. องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังบ้าน นายสำราญ หน่อนาคำ บ้านวังงูเห่า ตำบลพระยาทด อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำแก่งคอย – บ้านหมอ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นอดีตยุวเกษตร แรกเริ่มได้มีการเพาะต้นกล้าขาย ต่อมาได้นำวิชาความรู้ที่มีมาเปิดร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการเกษตรอย่างครบวงจร และเริ่มทดลองปลูกพืช พร้อมศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยเข้ารับการอบรมจากหลายหน่วยงาน และนำมาทดลองทำที่สวนตัวเอง เมื่อมีเงินทุนมากขึ้นจึงซื้อที่ดิน เพื่อขยายพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร เกี่ยวกับการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และการปลูกเมล่อน ปัจจุบันสามารถขยายพื้นจากเริ่มต้นไม่ถึง 1 ไร่ ไปถึง 20 ไร่ โดยปลูกพันธุ์กล้าไม้นานาชนิดส่งขายให้กับผู้สนใจ และปลูกเมล่อน ซึ่งได้ผลผลิตที่ดีมีการตอบรับจากผู้ซื้อว่ามีรสชาติดี นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการในการจัดงาน “ต้นกล้าเกษตรแฟร์” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม และเลือกซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านในชุมชนรอบๆ อีกด้วย