อิมเมจินไทยแลนด์ เดินหน้าขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ระดมสมองผู้ก่อการดี พัฒนาชุมชนสุขภาวะต้นแบบ
วันนี้ ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ใช่จะมีชื่อเสียงในเรื่องการทำไชโป้วเท่านั้น ที่นี่ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของปราชญ์ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น'มานพ มีจำรัส' หรือ'ครูนาย' ศิลปินเต้นร่วมสมัย รางวัลศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรม หรือครูกอล์ฟ'ธนกร สดใส' ผู้เชี่ยวชาญการทำบายศรี รวมทั้งผู้นำ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในอีกหลากหลายสาขา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าคนเหล่านี้ได้รวมตัวกัน เป็นกลุ่มผู้ก่อการดี เพื่อช่วยกันพัฒนา ขับเคลื่อนให้เจ็ดเสมียน เป็นตำบลสุขภาวะ โดยได้ร่วมกับ Imagine Thailand Movement ภายใต้การนำของ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง Social Lab ห้องปฏิบัติการทางสังคม (ประเทศไทย) และผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใช้พลังความร่วมมือของเหล่าผู้ก่อการดีสร้างความเปลี่ยนแปลง สู่เป้าหมายให้คนทุกเพศทุกวัยในเจ็ดเสมียน อยู่อย่างมีความสุข มีสุขภาพดีทั้งกาย ใจ ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ได้เชื้อเชิญเหล่าผู้ก่อการดีกว่า 20 คนของเจ็ดเสมียน ทั้งปราชญ์ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ ตัวแทนผู้สูงวัย และตัวแทนของหน่วยงาน องค์กร ในพื้นที่มาร่วมกันพูดคุยลงลึก ในกิจกรรมการทำแผนตลาดนัดสุขภาพ และพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ ในโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ณ โรงแรมธารามันตรา รีสอร์ท ชะอำ จ.เพชรบุรี ดร.อุดม กล่าวว่า Imagine Thailand Movement มีโอกาสเข้าไปทำงานกับผู้นำใน ต.เจ็ดเสมียน ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยได้สร้างกลุ่มผู้นำ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก และเยาวชน โดยเชิญปราชญ์ และผู้รู้หลากหลายสาขา เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดเครือข่ายของผู้นำที่ให้ความสำคัญในการพัฒนา ต.เจ็ดเสมียน ไปสู่การเป็นตำบลสุขภาวะต้นแบบ โดยการรวมตัวครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เหล่าผู้ก่อการดีได้ร่วมกันระดมความคิด ร่วมกันวางแผน และกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียนไปสู่เป้าหมาย ให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขและปลอดจากปัจจัยเสี่ยง ซึ่งในวงสนทนาได้บทสรุปชัดเจน และจะได้เห็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้ เช่น การจัดตลาดนัดสุขภาพ,การจัดสถานที่ออกกำลังกาย สนามเปตอง หรือพื้นที่เล่น แอโรบิค ฯลฯ “สำหรับกิจกรรมที่วงสนทนาของชุมชนเจ็ดเสมียนนำมาหารือกันนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง ตลาดนัดสุขภาพ ก็เป็นหนึ่งในนั้น มีการฝึกอบรมสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อมาช่วยกันทำงาน เพราะเจ็ดเสมียนเป็นพื้นที่เปิด เป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีของดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ อย่างผลิตภัณฑ์ไชโป้ว ในเบื้องต้นจะมีตลาดนัดสุขภาพ ซึ่งอาจชวนทุกคนมาเรียนรู้จากตรงนั้นได้ รวมทั้งจัดลานกีฬา และกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม“ อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้คงเป็นเรื่องของการนำแผนที่ได้จาการร่วมกันระดมสมองออกมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งคงเป็นก้าวย่างสำคัญอีกก้าว เพราะในระหว่างที่นำไปสู่การปฏิบัติ ในความหมายคือ ไปจัดกิจกรรม ไปจัดการพูดคุย รวมถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนในตำบลเจ็ดเสมียน เพื่อให้ได้เห็นผลงานที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็กเล็กจนกระทั่งผู้สูงอายุ ที่มีอยู่อย่างมากมายในตำบลเจ็ดเสมียน ส่วนวัยทำงานก็มีการพูดถึงกิจกรรมอะไรบางอย่างที่สอดรับกับความสนใจ ความต้องการของคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬา และกิจกรรมส่งเสริม ภาคเศรษฐกิจด้วย “ทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่ให้คนในชุมชนมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ พร้อมๆ กับความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่วัยต่างกัน หรือต่างสภาพแวดล้อมกัน บางครั้งอาจไม่ได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ดังนั้นการกำหนดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเรื่องของการสร้างพื้นที่สุขภาวะนี้ จะเป็นโอกาสที่ทำให้คนเหล่านี้ได้มาอยู่ร่วมกัน ได้มาเจอกัน ได้มาพูดคุยกัน มาเรียนรู้อะไรบางอย่างจากกันและกัน แน่นอนว่าเด็กๆ หรือเยาวชนก็สามารถเรียนรู้จากผู้ใหญ่ได้ ในทางกลับกันผู้ใหญ่ ก็มีโอกาสเรียนรู้จากเด็กและเยาวชนได้เช่นเดียวกัน” ดร.อุดม กล่าว นับเป็นอีกก้าวสำคัญของชาวเจ็ดเสมียน ที่เหล่าผู้ก่อการดี และผู้คนในพื้นที่ ได้มาระดมความคิดเห็น เปิดมุมมอง และร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายของการเป็นพื้นที่สุขภาวะอย่างยั่งยืนต่อไป ติดตามการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะได้ที่ Facebook Fanpage: Imagine Thailand Movement และ Website : https://www.imaginethailandmovement.com