เครือข่ายเหยื่ออุบัติเหตุบุก บชน. เรียกร้องจัดหนักสถานบันเทิง – ฟื้นด่านตรวจเมา
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯนายประศม สุขแสวง ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะซึ่งเป็นคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากการเมาแล้วขับ ได้เดินทางมายื่นหนังสือเถึง พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีผู้แทน ผบช.น.มารับเรื่องเอาไว้ เพื่อเรียกร้องมาตรการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้กับ พลตำรวจโทสำราญ นวลมา ผู้บัญชาการ ตำรวจนครบาล 4 ข้อ ดังนี้ 1. ขอให้มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์เมื่อเกิดเหตุกรณีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในทันที ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมกับคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย และลดข้อครหาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่องความไม่โปร่งใส เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมาที่มูลนิธิเมาไม่ขับเป็นประจำ 2. ขอให้มีการลงโทษสูงสุดกับสถานบันเทิงที่ปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปใช้บริการ 3. กรณีที่ปรากฎพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน อายุต่ำกว่า 20 ปี และผลการชันสูตรในร่างกายพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวน ร้านค้า สถานประกอบการ สถานบันเทิง บุคคลที่มีส่วนสนับสนุนทั้งทางตรง ทางอ้อม จนเป็นเหตุให้ผู้เยาว์รายนั้นเสียชีวิต โดยขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายใน พรบ.คุ้มครองเด็ก และพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับผู้ที่คิดจะหาประโยชน์บนคราบน้ำตาของเยาวชนอีกต่อไป 4. ขอให้มีการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่อย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง เหมือนเมื่อก่อนไวรัสโควิดระบาด เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ ไวรัสโควิด 19 ทุเลาเบาบางลง การตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์จึงสมควรเป็นนโยบายที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำกลับมาพิจารณาดำเนินการใหม่ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร โดยประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในฐานะเหยื่อเมาแล้วขับ พวกเราไม่อยากให้เด็กเยาวชน ต้องประสบชะตากรรมเหมือนพวกเรา จึงขอเรียกร้องให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้กำหนดนโยบายที่เด็ดขาดจริงจัง โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ทั้งนี้เพื่อปกป้องชีวิตของลูกหลาน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบการสถานบันเทิง และการฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่สถานบันเทิงรู้เห็นเป็นใจให้เด็กอายุตำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ ต้องมีการลงโทษสถานหนัก และถ้าในกรณีที่เด็กเยาวชนที่ไปใช้บริการ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และพิสูจน์ทราบว่ามีแอลกอฮอล์ในร่างกายจะต้องมีการสอบสวนเอาผิดกับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กเยาวชนรายนั้น ทั้ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพรบ.คุ้มครองเด็ก ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการสถานบันเทิงลอยนวล นอกจากนั้นแล้ว ขอเรียกร้องให้กรณีเกิดอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บต้องมีการตรวจแอลกอฮอล์คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายในทันที ไม่ใช่ประวิงเวลา จนก่อให้เกิดเสียงวิพากษณ์ วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้รวมไปถึงการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องรื้อฟื้นการตั้งด่านกลับมาดำเนินการ ที่ผ่านมาอ้างปัญหาโควิด ปัจจุบันคงอ้างไม่ได้แล้ว ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้าย