Update Newsสังคมสิ่งแวดล้อม

เชฟรอน – สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและพันธมิตร สานต่อโครงการฯตามรอยพ่อฯปี 5 “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี”

 

   

   



บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เดินหน้าโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 ภายใต้แนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาในการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า แก่พสกนิกรชาวไทย ส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ สู่การลงมือปฏิบัติ พร้อมขยายผลความสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน

 นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ภาคีเครือข่ายภาคเอกชนที่เป็นหนึ่งในแกนหลักสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า “ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้ และบรรลุผลในการขยายจำนวน ‘คนมีใจ’ และ ‘เครือข่าย’ จากลุ่มแม่น้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ได้ถึง 24 ลุ่มน้ำจากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ สามารถสร้างพื้นที่ต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม 

ซึ่งเราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมของผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ และนำไปลงมือปฏิบัติจริง จากพื้นที่แห้งแล้งก็กลับเขียวขจี ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการพิสูจน์ว่าศาสตร์พระราชานั้นช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้จริง เชฟรอนจึงให้การสนับสนุนโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า "สำหรับโครงการฯ ในปีที่ 5 นี้ เราดำเนินงานภายใต้แนวคิด ’แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ เพื่อชี้ให้เห็นตัวอย่างการ ‘แตกตัว’ ของโครงการฯ ที่ขยายผลไปยังลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำอื่นๆ โดยนำภารกิจของการ ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ การลงแขกตามประเพณีดั้งเดิมของคนไทยมาเป็นกลวิธีในการขับเคลื่อนเพื่อประสานความสามัคคีเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน และขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการขยายเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย 

นอกจากนั้น ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้จากการปรับปรุงพื้นที่ตามแนวทางศาสตร์พระราชาในสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน ปีนี้ เราจึงกระจายการจัดกิจกรรมรณรงค์ไว้ทั้งหมด 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี อุดรธานี และลพบุรี โดย ประเดิมทำกิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบพื้นที่ให้เครือข่ายและคนมีใจที่ต้องการนำศาสตร์พระราชาไช้ในการจัดการพื้นที่ของตน”


 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงบทบาทของ สจล. ว่า  สจล. ได้ร่วมดำเนินงานกับโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่ 3 (พ.ศ. 2558) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบการใช้พื้นที่และการกักเก็บน้ำตามแนวคิด โคก หนอง นา’ โมเดล ให้กับประชาชนผู้สนใจ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน มีผู้แจ้งความจำนงเพื่อขอรับบริการออกแบบพื้นที่เป็นจำนวนมาก จนไม่อาจให้บริการได้ทั้งหมด ทำให้ในปี พ.ศ. 2560 นี้ 

สจล.จึงมีแนวคิดในการขยายองค์ความรู้การออกแบบพื้นที่เชิงสถาปัตยกรรมตามศาสตร์พระราชา เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ผ่านการจัดอบรมคณาจารย์และนักศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้ง 18 สถาบันทั่วประเทศ เพื่อขยายเครือข่ายภาควิชาการ ที่มีศักยภาพในการให้บริการประชาชนที่สนใจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

   

“สำหรับโครงการฯ ปีที่ 5 นี้ สจล. ได้นำพื้นที่กสิกรรมแปลงเกษตรสาธิตของคณะเทคโนโลยีการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 พื้นที่กิจกรรม ‘เอามื้อสามัคคี’ มาออกแบบและปรับปรุง เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมืองแก่ประชาชนต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น ยังสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาของ สจล. ร่วมทำประโยชน์แก่สังคมด้วยการออกแบบพื้นที่ให้กับประชาชนที่สนใจนำศาสตร์พระราชาไปใช้ในพื้นที่ของตนอีกด้วย” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติม

   

   

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการที่ร่วมออกแบบในหลายพื้นที่ของโครงการฯ กล่าวว่า “หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้พบปัญหาเรื่องระบบการจัดเก็บข้อมูล ทำให้การประเมินติดตามผลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงคิดทำโครงการวิจัย ‘การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ ขึ้น โดยดำเนินการในนาม ‘ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง’ (ITOKmitl)


ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเป็นมาตรฐานในทางวิชาการ โครงการวิจัยฯ จึงได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 รวมระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 2 ปี โดยจัดเก็บข้อมูลวิจัยใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้นั้น จะนำมาถอดเป็นบทเรียน เพื่อจัดทำเป็นชุดความรู้และคู่มือในการพื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ มีแผนจะนำเสนองานวิจัยในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันความสำเร็จของทฤษฎีการจัดการทรัพยากรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการแก้ไขปัญหาครบทุกมิติ”

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปี 5 ยังคงเดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสู่การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี ในอีก 3 พื้นที่ ซึ่งกิจกรรมถัดไปจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2560 ณ ไร่สุขกลางใจของ

อ.สุขะชัย ศุภศิริ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking

   

   



 ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ภายใต้โครงการ รวมพลังตามพ่อของแผ่นดิน ปี 5

โครงการฯ ในปีที่ 5 ยังคงมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธาน น้อมนำเอาองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาในการบริหารจัดการน้ำ และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเผยแพร่ สู่การลงมือปฏิบัติ ผ่านภารกิจ “เอามื้อสามัคคี” เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ และขยายผล สร้างคน สร้างเครือข่าย ไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย “เอามื้อสามัคคี” ในอีก 3 พื้นที่ คือ

วันที่ 19-20 สิงหาคม 2560 ณ ไร่สุขกลางใจของ อ.สุขะชัย ศุภศิริ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

วันที่ 7-8 ตุลาคม 2560 ณ พื้นที่นาของลุงแสวง ศรีธรรมบุตร ต.นาเรียง อ. ศรีธาตุ จ.อุดรธานี

วันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2560 ณ ป่าสักโมเดล (ห้วยกระแทก) หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี