Update Newsคมนาคมธุรกิจ-เศรษฐกิจสายการบิน

เทเลพอร์ต เปิดตัวเครื่องบินขนส่งสินค้าทางอากาศลำแรกแบบ 737-800 ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์แห่งภูมิภาค


กรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564เทเลพอร์ต (Teleport) บริษัทร่วมทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของแอร์เอเชีย ดิจิทัล ตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาคในธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ด้วยการเปิดตัวเครื่องบินขนส่งสินค้าแบบ 737-800 พร้อมเปิดตัวลายเครื่องบินที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น

การออกแบบลายเครื่องบินของเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ สะท้อนถึงสีสันของแบรนด์เทเลพอร์ต โดยเครื่องบินลำดังกล่าวจะใช้เพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ ในเส้นทางบินสำคัญของภูมิภาคเอเชีย การออกแบบนี้แสดงถึงปรัชญาการบริการของเทเลพอร์ต นับเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เทเลพอร์ตและกลุ่มแอร์เอเชีย ก้าวสู่การเป็นหนึ่งใน 3 ผู้ให้บริการขนส่งสินค้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

การเพิ่มเครื่องบินเพื่อใช้ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะนี้ ส่งผลให้เทเลพอร์ตมีฝูงบินที่พร้อมให้บริการทั้งหมด 252 ลำ (รวมเครื่องบินโดยสารของกลุ่มแอร์เอเชีย) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ และรักษาความสม่ำเสมอในการให้บริการมากขึ้นในเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับตั้งแต่ต้นปี 2563  เทเลพอร์ตได้เริ่มสร้างเครือข่ายเฉพาะสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่สำคัญในภูมิภาค เพื่อรองรับความต้องการด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการขนส่งสินค้าทั่วไปที่เพิ่มขึ้น โดยเทเลพอร์ตยังคงเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดการขนส่งสินค้า และอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว  

นายเอเดรียน ลอเร็ตซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเทเลพอร์ต กล่าวว่า การเติบโตของบริการขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศตลาดเศรษฐกิจที่เกิดใหม่ การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอากาศยาน ตลอดจนการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญให้เทเลพอร์ตตัดสินใจเพิ่มเครื่องบินขนส่งสินค้าเข้ามาอยู่ในฝูงบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งจะทยอยเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับขนาดการดำเนินการให้ตอบสนองกับตลาดการขนส่งสินค้าที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขนส่งสินค้าโดยใช้พาเลท หรือแท่นวางสินค้า ที่ต้องการความถี่เที่ยวบินที่แน่นอน พร้อมกับการให้บริการที่ตรงต่อเวลาและเชื่อถือได้ 

การมีฐานปฏิบัติการบินจากกรุงเทพฯ ทำให้เครื่องบินของเราสามารถเชื่อมต่อบริการสู่ตลาดสำคัญ ได้ เช่น ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เชนไน มุมไบ รวมทั้งจุดหมายปลายทางหลักอื่นๆ โดยการเชื่อมต่อตลาดระยะไกลกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะดำเนินการผ่านการขนส่งแบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยเครื่องบินลำนี้มีศักยภาพในการขนส่งด้วยความจุขนาดใหญ่ที่บรรทุกสูงสุด 21 ตัน ทั้งยังสามารถบรรทุกสิ่งของจำนวนมากภายใต้หมวดหมู่สินค้าอันตรายตามระเบียบของ IATA รวมถึงแบตเตอรี่ลิเธียมอีกด้วย

นายพีท เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลพอร์ต กล่าวว่า การเพิ่มเครื่องบินเพื่อบรรทุกสินค้าเข้ามาในฝูงบิน จะช่วยเร่งเป้าหมายของบริษัทให้เปลี่ยนจากผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพียงอย่างเดียว  ไปเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศแบบครบวงจร ที่ตอบสนองความต้องการหลากหลายรูปแบบ โดยเทเลพอร์ตอยู่ในเส้นทางการเติบโตที่รวดเร็วของธุรกิจ ซึ่งตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่พร้อมจะขยายการเติบโตทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังพร้อมรับมือกับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่แค่สำหรับเทเลพอร์ตเท่านั้น แต่สำหรับทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ 

นายโบ ลิงกัม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทแอร์เอเชีย เอวิเอชัน ลิมิตเต็ด กล่าวเสริมว่า การสร้างเครือข่ายการขนส่งสินค้าที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องและทันท่วงทีกับบรรยากาศการเปิดพรมแดนและน่านฟ้าที่กำลังทยอยกลับมาอีกครั้งในหลายๆพื้นที่ทั่วโลก นับว่ามีความสำคัญต่อการเสริมสร้างศักยภาพของแบรนด์เทเลพอร์ตและกลุ่มแอร์เอเชียโดยรวม ซึ่งการดำเนินงานของเทเลพอร์ตเองนับว่าเดินมาถูกทาง เตรียมตัวให้พร้อมกับความต้องการด้านการขนส่งที่กำลังโตขึ้นในภูมิภาคนี้ เห็นได้ชัดว่าเทเลพอร์ตมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปีที่กำลังจะมาถึงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 

เครื่องบินขนส่งสินค้าแบบ 737-800 ของเทเลพอร์ตนี้มาจากการควบรวมกิจการโดยผ่านข้อตกลงระยะเวลาหลายปีกับ เค-ไมล์ เอเชีย (K-Mile Asia) ซึ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าด่วนของประเทศไทย นับเป็นการปูทางไปสู่การขยายการให้บริการขนส่งสินค้าและตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาค

สำหรับการประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างเทเลพอร์ต กับ  เค-ไมล์ เอเชีย นี้ นายเอเดรียนกล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญในความร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง เค-ไมล์ เอเชีย ในขณะที่เทเลพอร์ตขยายขอบเขตให้บริการด้านโลจิสติกส์ไปทั่วเอเชีย เมื่อประกอบกับความเชี่ยวชาญของเค-ไมล์ เอเชีย ในการบริหารจัดการใช้เครื่องบิน จะยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความตรงต่อเวลาสูง ซึ่งจะส่งผลให้เทเลพอร์ตสามารถขยายตารางการขนส่งสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะเหล่านี้ไปยังเมืองสำคัญๆ ในเอเชีย

นายเกล็ดชัย เบญจอาธรศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เค-ไมล์ เอเชีย กล่าวว่า เค-ไมล์ เอเชีย มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับเทเลพอร์ตในการจัดหาช่องทางการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมไปยังเมืองต่างๆ ทั่วเอเชีย ซึ่งเล็งเห็นถึงความร่วมมือกันในระยะยาวและเติบโตในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไปด้วยกัน ทั้งนี้ บริษัทเค-ไมล์มุ่งเน้นการให้บริการส่งสินค้าทางอากาศแบบบูรณาการ ทั้งการส่งสินค้าแบบด่วน (Express) และการให้บริการส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำ (charter service) ซึ่งลูกค้ามั่นใจได้ว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเค-ไมล์จะมีส่วนสนับสนุนให้การบริการของเทเลพอร์ต เป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ พร้อมคุณภาพและความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำหรับแผนขยายการให้บริการขนส่งสินค้าสู่เมืองสำคัญๆ ของเทเลพอร์ตได้ที่เว็บไซต์ https://www.teleport.asia/en/my/cargo