แพรวา…ราชินีแห่งไหมไทย หนึ่งในสุดยอด “อัตลักษณ์แห่งสยาม”
จากผ้าห่มสไบของชาวภูไท สู่ราชินีแห่งไหมไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชดำริให้ส่งเสริมและสนับสนุน จนมีการพัฒนาผ้าไหมแพรวาอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน และเมื่อไม่นานมานี้ คนไทยได้ประจักษ์ในความงดงามของผ้าไหมแพรวากันอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จไปทรงร่วมงาน“อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยทรงฉลองพระองค์ชุดไทยผ้าไหมแพรวาสีแดง ซึ่งเป็นสีดั้งเดิมของแพรวาอันเป็นวัฒนธรรมของชาวภูไท บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ในโครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 แพรวา หรือ ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศจีนตอนใต้ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยยังรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้าแพรวาตั้งแต่อายุ 9 - 15 ปี ชาวผู้ไทยที่ทอผ้าแพรวาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมด้วยการเก็บลาย หรือเก็บขิดแบบจกที่มีลวดลายโดดเด่น เป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงที่เรียกว่าผ้าเบี่ยง ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆโดยประเพณีทางวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวภูไทจะต้องยึดถือคือ จะต้องตัดเย็บผ้าทอ 3 อย่างคือ เสื้อดำ ตำแพร หมายถึงการทอด้วยไหมทั้งผืน มีสีสันและลวดลายที่หลากหลาย ผ้าไหมแพรวาที่ได้ชื่อว่า “ราชินีไหม” มิใช่เพราะมีราคาแพง หากเพราะความงดงาม ทุกลายไหม ทุกดอกดวง ล้วนสืบสานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นมรดกตกต่อกันมาหลายชั่วอายุคน พบกับสุดยอดตำนานของผ้าไหมแพรวา ผลงานอันวิจิตรงดงามที่รังสรรค์โดยครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมจาก บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในงาน“อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 10” นอกจากนี้ยังได้รวบรวมครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จากทั่วประเทศมากที่สุด ซึ่งจะมาร่วมกันจัดแสดงและจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทยระดับฝีมือชั้นครู กว่า 180 คูหา ซึ่งบางชิ้นก็ไม่สามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน อาทิ งานเครื่องเงิน-เครื่องทองโบราณ งานเครื่องถม งานผ้าโบราณ และงานหัตถศิลป์อื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาชมงานยังได้รับประโยชน์ และได้เรียนรู้งานหัตถศิลป์ไทยกับครูฯ โดยตรง ทั้งการสาธิต และร่วมหัดทำชิ้นงานอีกด้วย ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพลนารี ฮอลล์ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 1289 #SACICT #IdentityOfSiam #อัตลักษณ์แห่งสยาม #ครั้งที่10