โรงเรียนเพียงหลวง ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีพระดำริที่ทรงห่วงใยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กในพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก การติดต่อประสานงานในพื้นที่ระหว่างอำเภอและจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ขาดแคลนบุคลากร ครูผู้สอนไม่เพียงพอต่ออัตราส่วนของเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้การดำเนินงานโครงการโรงเรียนเพียงหลวง ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทั้ง 18 แห่ง เป็นไปตามพระดำริฯ แนวทางการพัฒนาของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ......โรงเรียนเพียงหลวงฯ เป็นโรงเรียนตัวอย่าง เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่นักเรียนมีฐานะยากจน ห่างไกลความเจริญ การเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ เข้าถึงยาก ทางกรมพัฒนาสังคมมีภารกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการจัดสวัสดิการให้กับกลุ่มเป้าหมาย สำคัญคือ ถ้ากลุ่มเป้าหมายหรือนักเรียนของเรามีจิตใจที่ดีงามแล้ว ปัญหาสังคมลดน้อยลงแน่นอน ในส่วนของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จะดูแลด้านสังคมและสวัสดิการ ดังนั้นก็สอดคล้องกับโรงเรียนเพียงหลวงฯเช่นกัน ทางกรมพส.จึงร่วมกับโรงเรียนเพียงหลวง ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กิจกรรมเน้น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การพัฒนาโรงเรียน เนื่องจากเด็กใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเกือบ 8 ชม. ต่อวัน หากอยู่ในโรงเรียนได้รับสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการดูแลที่ดีหรือมีกิจกรรมที่เอื้อกับการพัฒนาเด็ก ก็จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาเด็กได้ง่ายขึ้น กิจกรรมในโรงเรียนจึงน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 นำโครงสร้างหรือกิจกรรมของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาน้อมนำในโรงเรียนทุกโรงเรียนทั้ง 18 แห่ง ส่วนที่ สอง คือการพัฒนาเด็ก มีการนำกิจกรรมเพื่อพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพที่ดี โดยใช้คำว่า Smart Student คือเด็กที่มีความสมาร์ท ในเรื่องของกริยามารยาท จิตใจที่ดีงาม กิจกรรมเน้นเรื่องจิตอาสา ทำอย่างไรให้เด็กมีการให้ มีความเสียสละ ส่วนที่ สาม คือการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้าน และภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ปกครอง ให้มีรายได้ในการเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงน้องๆ โดยนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยใช้คำว่า 1 เพียงหลวง 1 ผลิตภัณฑ์ อย่างน้อย 1 โรงเรียนต้องมีผลิตภัณฑ์ที่เชิดหน้าชูตา และสานต่อ มีรายได้ต่อ โรงเรียนเพียงหลวง 16ฯ เชียงราย ภายใต้แนวนโยบาย ของการเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตของคนในชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ คู่คุณภาพชีวิต ณ วันนี้ โรงเรียนเพียงหลวง 16ฯ จังหวัดเชียงราย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายองค์กรเข้าไปให้ความรู้ความช่วยเหลือ พัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานหน่วยงานหนึ่งที่ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อสานต่อแนวนโยบาย ว่าที่ร้อยตรี ยุทธศักดิ์ อาจองค์ ผอ.ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงราย เผยว่า “โรงเรียนแห่งนี้ เดิมชื่อโรงเรียนบ้านร่มโพธิ์ไทร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองของเด็กจะมีฐานะยากจน ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน เมื่อได้รับการตั้งเป็นโรงเรียนเพียงหลวง 16 แล้ว ก็ได้มีการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ด้านแรกคือด้านการเรียนการสอนให้มีมาตรฐาน ด้านที่สองคือด้านศูนย์การเรียนรู้สำหรับการฝึกทักษะอาชีพ ขณะนี้ที่ดำเนินการและเป็นตัวอย่างนำไปโชว์ผลิตภัณฑ์คือ การดำเนินการจากผลิตภัณฑ์ใยกัญชง” นางซัว แซ่หาญ ผู้เฒ่าจิตอาสาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปักผ้าดั้งเดิมของชนเผ่า เผยว่า การที่มีรร.เพียงหลวงขึ้นมาทำให้ ส่งเสริมให้ชาวบ้าน ให้มีความรู้ ได้มาเรียนมาสอนรร.ด้วย และส่งเสริมให้เด็ก รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้และรักษประเพณีที่เราเคยมีตั้งแต่ดั้งเดิมมา แต่ก่อนนี้พ่อแม่เราไม่ได้ไปซื้อผ้าหรือจักร พ่อแม่ก็ปักเป็นผ้าห่มเสื้อผ้ากัน นายพิพัฒน์ อุทธิยา ผอ.รร.เพียงหลวง 16ฯ เผยว่า ข้อดีของการเข้าสู่โครงการโรงเรียนเพียงหลวง ที่เห็นได้ชัดคือ ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมความสามารถของเด็ก ไม่ว่าด้านทักษะอาชีพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มาทุกปี ไม่ว่าจะเป็นเกษตรที่สูง ปศุสัตว์ นำสัตว์เลี้ยงมาให้ มีบ่อเลี้ยงปลาให้เด็กได้เรียรนรู้ในการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กในอนาคต ไม่ต้องหลั่งไหลเข้าสู่สังคมเมือง นายชาย แซ่เล่า ศิษย์เก่าโรงเรียนเพียงหลวง 16ฯ เผยว่า ผมเคยเรียนหนังสือที่นี่ตั้งแต่ยี่สิบปีที่แล้ว เมื่อก่อนพื้นไม่ใช่แบบนี้ ฝนตก็เล่นไม่ได้ อาคารก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากเราไม่สามารถไปเรียนไกลๆ ได้ โรงเรียนเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มีการสนับสนุนการเงิน ความคิดที่เป็นประโยชน์ ตอนนี้เรามีพื้นแบบนี้ ที่ผ่านมาเราเคยต้องไปเรียนไกล ๆ ผมคิดว่าโรงเรียนของเราจะทัดเทียมกับโรงเรียนที่อื่นได้ โรงเรียนเพียงหลวง 4ฯ จังหวัดสตูล การเดินทางเข้าสู่โรงเรียนเพียงหลวง 4ฯ บ้านสุไหงมูโซ๊ะ ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่มีถนนสัญจร สามารถเดินเข้าไปได้เพียงทางเรือเท่านั้น โดยจากท่าเรือ บินตี บ้านตูแตหรำ ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล แต่ละวันจะมีครูจากบนฝั่งนั่งเรือหางยาวเข้าสู่เกาะอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเพียงหลวง 4 ฯ จังหวัดสตูล หลังจากนั้นจึงนั่งรถพ่วงข้างซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ปกครองและชาวบ้านได้จัดขึ้นเพื่อรับ ส่ง ครู นายนัฐพงค์ หมีนหวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวงฯ เล่าให้ฟังว่า เดิมโรงเรียนชื่อ สุไหงมูโซะ จังหวดสตูลได้มาสำรวจพื้นที่และพบว่าโรงเรียนแห่งนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ ขาดอุปกรณ์การเรียน ขาดครูที่จะมาช่วยในการเรียนการสอน จึงเสนอชื่อโรงเรียนบ้านสุไหงมูโซ๊ะแห่งนี้เป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์ฯ ทูลกระหม่อมหญิงฯ ทำให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียน และสื่ออีกหลายทางที่จะมีหน่วยงานจากภายนอกมาช่วยเหลือตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเท่าเทียบกับโรงเรียนสพฐ..ซึ่งอยู่บนฝั่ง โรงเรียนของเราอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่เดิมรร.แห่งนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ ปัจจุบันมีแล้ว และจะมีสะพานเพื่อเชื่อมระหว่างบนฝั่งเข้ามาสู่โรงเรียนบนเกาะแห่งนี้ ให้ชาวบ้านและนักเรียนสามารถเดินทางสะดวกขึ้น ถ้าเราไม่มีโรงเรียนเพียงหลวงในทูลกระหม่อม ฯ เด็กและชาวบ้านก็จะขาดโอกาสและไม่มีวันนี้ แนวทางในการพัฒนาเพิ่มเติมหลังจากนี้ ทางโรงเรียนทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กนักเรียนอ่านออกเขียนได้ เด็กทุกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ มีคุณธรรมจริยธรรม จบไปแล้วสามารถมาช่วยงาน หรือทุกคนบนฝั่งได้เห็นว่า เด็กนักเรียนเพียงหลง 4 ก็มีคุณภาพเหมือนกับโรงเรียนที่อยู่บนฝั่ง นางวิไลวรรณ สุวรรณรักษา ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล กล่าวว่า ที่นี่เดิมไม่มีใครเข้ามาเนื่องจากการคมนาคมลำบากมาก เมื่อวันที่เราเริ่มเปิดโรงเรียนท่านผู้ว่าฯ ในขณะนั้น ได้บูรณาการกิจกรรมสนับสนุนรถเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนเพื่อให้การเดินทางให้ครูที่พักอาศัยอยู่ด้านนอกได้สามารถนำความรู้เข้ามาสู่ชุมชนบนเกาะแห่งนี้ ต่อมารัฐวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นชาวบ้านช่วยกันบูรณาการ นำรถพ่วงสำหรับการเดินทาง ในปีหนึ่งๆ เราได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดกิจกรรมโครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพเด็ก มีโครงการเพียงหลวงตามรอยพ่อ สานต่อความพอเพียง และโครงการสมาร์ท สติวเดน เป็นโครงการที่เรามองว่าที่นี่เป็นพหุวัฒนธรรม เป็นที่อยู่รวมกันของพี่น้องมุสลิมและไทยพุทธ แต่อยู่กันอย่างสันติ มีการเชิญโต๊ะอิหม่ามเข้ามาให้ความรู้กับเด็กๆ ที่นี่ และเราเน้นเรื่องจิตอาสา เราพัฒนาศักยภาพของจิตอาสาของครอบครัวของชุมชน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็เข้ามาร่วมจิตอาสากับครูของเราด้วย หลังจากนั้นมีอีก 2 โครงการที่ต้องทำคือ โครงการศูนย์เรียนรู้ จะเห็นว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้อย่างเต็มที่ มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาดุกในท่อซีเมนต์และโรงเรือนผักกางมุ้ง และนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาปรุงอาหารให้น้องๆได้ทานอย่างถูกสุขลักษณะ ปลายปีนี้จะมีโครงการสานพลังครอบครัว เป็นโครการที่ให้ครอบครัว ชุมชนและน้องๆ นักเรียนในโรงเรียนได้รู้สถานการณ์ทางสังคมที่เป็นอยู่จากโลกภายนอก เด็กๆ จะได้รู้ว่าตนเองจะต้องป้องกันตัวเองอย่างไรกับสถานการณ์สังคมภายนอก ตัวเองต้องช่วยกันผลักดันให้สังคมครอบครัวที่นี่เป็นอีกครอบครัวสังคมหนึ่งที่เข้มแข็งและสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน โรงเรียนเพียงหลวง 8ฯ สุรินทร์ ...อำเภอกาบเชิง อีกหนึ่งที่ตั้งของโรงเรียนเพียงหลวง 8ฯ สุรินทร์ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนในโครงการของทูลกระหม่อมฯ หนึ่งในโรงเรียนที่มีความพิเศษกว่าโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วไป เนื่องจากไม่เพียงแต่เรียนในโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนยังเข้าสู่ชุมชน โดยเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านในละแวกโรงเรียน ซึ่งต่างถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็ก ๆ และทุกคราวที่โรงเรียนขอความร่วมมือในการทำนา พัฒนาอาชีพ ชาวบ้าน ผู้ปกครอง ต่างพร้อมใจกันเข้ามาสานต่อให้ความรู้กับเด็กอย่างเต็มกำลัง ดั่งคำที่ว่า... โรงเรียนหรือชุมชน เป็นเนื้อเดียวกันแยกกันไม่ออก ที่นี่ ...เพียงหลวง 8 ฯ สุรินทร์ นายกิตติพัฒนา ดาทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงหลวง 8ฯ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อหรือเข้าในโครงการโรงเรียนเพียงหลวง 8 ได้รับความเมตตาจากพระองค์ท่าน ในเรื่องของภาคีเครือข่ายที่เข้ามาสนับสนุน นอกจากมาตรฐานการศึกษาดีขึ้นแล้ว ยังพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนทางด้านทักษะทางอาชีพ มีเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้ในแต่ละบ้าน โดยภาคีทุกภาคีมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่าน พร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน จากกิจกรรมต่าง ๆ เด็กจะมีความสุข แต่เดิมจะเรียนเฉพาะในห้องเรียน แต่ปัจจุบันเรามีกิจกรรมแล้ว เด็กจะผ่อนคลาย นอกจากเรียนในโรงเรียน ยังนำเด็กเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนกับปราชญ์ในชุมชน ในแต่ละด้าน ทั้งสมุนไพร ผ้าไหม กองทุนต่าง ๆ สหกรณ์ ครบหมดเลย ชุมชนนี้ค่อนข้างมีความรักความสามัคคี ไม่ว่าจะเรื่องพัฒนาโรงเรียนหรืออะไร เป็นโรงเรียนหรือชุมชน เป็นเนื้อเดียวกันแยกกันไม่ออก หากเปรียบเทียบแต่เดิมกับปัจจุบันแล้ว โรงเรียนเพียงหลวงฯ ผลสัมฤทธิ์ของเรา พร้อมทุกอย่าง ที่จะก้าวเดินต่อไปลักษณะเป็นโรงเรียนเข้มแข็งเป็นโรงเรียนต้นแบบในอนาคต ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเด่นที่สัมผัสมาหลายโรงเรียน โรงเรียนแห่งนี้จะแตกต่างคือ มีการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานของการศึกษาชาติ เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้ควบคู่กับทักษะการดำเนินชีวิต โดยชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่เปนฐานเรียนรู้หนึ่ง โรงเรียนก็เป็นฐานเรียนรู้ สองส่วนนี้เป็นเนื้อเดียวกัน หมายความว่า เมื่อมีการศึกษาดูงาน ชุมชนจะเข้ามาเด็กจะนำเสนอ ซึ่งเด็กจะมีทักษะ อีกเรื่องคือการอนุรักษ์ป่า พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุมชนเคยต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์ป่า จึงนำเรื่องตรงนี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน มีชมรมอนุรักษ์ป่า เป็นฐานเรียนรู้ให้เด็กเข้าไปเรียนรู้กับป่า ป่าคืออาหารของเรา ชาวบ้านอาศัยป่า ทุกอย่างจะวนเวียนอยู่กลายเป็นความยั่งยืนเป็นจุดแข็งของโงเรียน นอกจากนี้มีเรื่องของภาษาถิ่น ในอีสานใต้ เด็กจะเรียนรู้ในชุมชน เรียนกับปราชญ์ของชุมชน โดยให้เด็กออกไปหาชุมชนในบางเรื่อง เมื่อเด็กมองเห็นเนื้องานเด็กจะเข้าใจ เด็กที่นี่เวลามีตลาดนัดเขาจะค้าขายเก่ง เช่นปลูกมะนาว เขาเอาความรู้ไปปลูกไปทำต่อที่บ้าน แล้วก็นำไปขายในช่วงเสาร์อาทิตย์ การได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนของทูลกระหม่อม ฯ ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดการ มี ชาใบหม่อม พื้นที่ของเราได้รับการดูแลจากการดูแลจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการหรือศูนย์หม่อนไหม และในชุมชนมีการเลี้ยงไหม โรงเรียนก็ปลูกหม่อน ในชุมชนเด็ก ๆ จะนำไปรวมกันที่บ้านท่าสว่าง นายโอฬาร อยู่กาญจนเศรษฐ นายกเทศมนตรีตำบลกาบเชิง กล่าวว่า ได้เข้ามาสนับสนุนพันธ์ปลา เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงอาชีพ การเลี้ยงสัตว์น้ำและสร้างรายได้ นอกจากเลี้ยงสัตว์ก็มีส่งเสริมการปลูกแก้วมังกร พันธ์ไต้หวัน มีเนื้อสีแดง รสชาติแตกต่างจากที่อื่น นายอุดม สละวาสี ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหมจังหวัดสุรินทร์ ในพระราชานุเคราะห์ กล่าวว่า “โรงเรียนที่พระองค์ท่านมีพระดำริที่จะมุ่งพัฒนาการศึกษาของเด็กในพื้นที่ชนบท ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในตามชายแดน ได้ส่งเสริมในเรื่องของกิจกรรมเพียงหลวงตามรอยพ่อ แยกเป็นสองกิจกรรม อบรมปลูกฝังในเด็ก ๆเห็นคุณค่าถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สองคือนำสู่การปฏิบัติจริง คือฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของโรงเรียนเพียงหลวง สุรินทร์ ทางนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สังกัดอยู่ได้ให้เราคัดเลือกโรงเรียนที่ห่างไกลและขาดแคลน ที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดน เราประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสุรินทร์ ขอให้ส่งรายชื่อโรงเรียนมา ก็ส่งมาสิบโรงเรียน เราก็ลงพื้นที่ไปเยี่ยมและดูว่า คุณสมบัติเข้าเกณฑ์หรือไม่ ก็ได้ที่โรงเรียนโคกกลางสามัคคี จุดเด่นของที่นี่คือชุมชนกับโรงเรียน มีความสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกัน โรงเรียนมีปัญหา ผู้นำชุมชนก็จะเข้ามาช่วยเหลือ ขณะที่โรงเรียนก็เข้าไปทำกิจกรรมกับชุมชนด้วย เป็นจุดเด่นที่เราพิจารณาคัดเลือก ในส่วนของที่กรมฯส่งเสริมคือ หนึ่ง เน้นเรื่องการสร้างภาคีเครือข่าย สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ ต่าง ๆ เข้ามาให้การสนับสนุนในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน อีกเรื่องคือ งบประมาณได้เข้ามาสนับสนุนโรงเรียน 9 ปีมาแล้ว สองแสนแปดหมื่นสี่พันแปดร้อยบาท ก็แยกเป็น 4 กิจกรรม 1 โครงการเพียงหลวงตามรอยพ่อ เน้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง 2 โครงการเพียงหลวง Smart Student เน้นอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพต้นแบบจิตอาสา กิจกรรมที่สามคือ หนึ่งเพียงหลวง หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปีนี้เน้นเรื่องไม้กวาดและการผลิตชาใบหม่อน โครงการ 1 เพียงหลวง 1 ผลิตภัณฑ์ ไม้กวาดจากเชือกรัดฟาง เป็นโครงการได้ผล ต้นเรื่องคือเด็กไปเห็นเชือกรัดฟางที่เกษตรกรรัดฟางเสร็จแล้วก็ตัดทิ้ง ก็ไปเก็บมามัดโดยใช้ด้ามไม้ไผ่ ซึ่งใช้ได้จริงขายได้ด้วย 4 เพียงหลวงกิจกรรมวันเด็ก อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเด็ก วันเด็กโรงเรียนใหญ่ถือเป็นศูนย์กลาง มีภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาร่วม ภาคีเครือข่าย มี สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ศูนย์วิจัยพันธ์ข้าว สุรินทร์ สำนักงานประมง นายธีรกุล โสธรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านการทอผ้าไหม เคยกล่าวไว้ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ว่า “....เด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ในการเลี้ยงไหม มัดหมี่ เลี้ยงเอง แต่ปลูกหมอนให้โรงเรียนปลูก และชาวบ้านก็ซื้อ โรงเรียนก็ต้องเข้ากับชุมชน โรงเรียนถ้าไม่มีชุมชนก็ไปไม่ได้ และถ้าชุมชนไม่มีโรงเรียนก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้องการความรู้ให้ลูกให้หลาน และถ้าโรงเรียนอยู่ติดบ้านอย่างโรงเรียนเพียงหลวงของเรา ก็จะง่ายในการทำกิจกรรมร่วมกัน .....ตายไปเอาความรู้ไปไม่ได้ ก็อยากให้เด็กมีความรู้ติดตัวไป ถ่ายทอดความรู้ให้เขาทั้งหมด สักวันเมื่อเขาไม่มีงานทำเขาจะนึกถึงเราว่าเมื่อไหร่ที่เขากลับมา.....ยังมีที่ตรงนี้ที่ให้ชีวิตกับเขาได้" ______________________________________________________________ โรงเรียนเพียงหลวงฯ ทั้งหมด มี 18 แห่ง ใน 18 จังหวัด ได้แก่ 1. โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 2.โรงเรียนเพียงหลวง 2ฯ ตำบลสายตะกู อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ 3.โรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง)ฯ ตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 4.โรงเรียนเพียงหลวง 4ฯ ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล 5.โรงเรียนเพียงหลวง 5ฯ ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร 6.โรงเรียนเพียงหลวง 6ฯ ตำบลนนทรี อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด 7.โรงเรียนเพียงหลวง 7ฯ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน 8.โรงเรียนเพียงหลวง 8ฯ ตำบลกาบเชิง อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ 9.โรงเรียนเพียงหลวง 9ฯ ตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ภาพบรรยากาศรร.เพียงหลวง 9ฯ อำนาจเจริญ 10.โรงเรียนเพียงหลวง 10ฯ ตำบลหนิงซน อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม 11.โรงเรียนเพียงหลวง 11 (บ้านสล่าเจียงตอง)ฯ ตำบลเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 12.โรงเรียนเพียงหลวง 12ฯ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 13.โรงเรียนเพียงหลวง 13 (ประชาบำรุง)ฯ ตำบลวังหลวง อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย 14.โรงเรียนเพียงหลวง 14ฯ ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ 15.โรงเรียนเพียงหลวง 15 (บ้านรังแตน)ฯ ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง 16.โรงเรียนเพียงหลวง 16ฯ ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย 17.โรงเรียนเพียงหลวง 17 (บ้านแสง)ฯ ตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว บรรยากาศโรงเรียนเพียงหลวงฯ 17 สระแก้ว 18.โรงเรียนเพียงหลวง 18ฯ ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย