วันที่ 13 มิถุนายน 2560 แหล่งข่าวรายงานว่า พลเอกศริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เข้าพบ Mr. Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามให้สัตยาบันสารอนุสัญญาILOฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501)
2.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว
3.มอบหมายให้ รง. จดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไป
สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ โดยรายละเอียดของอนุสัญญาฯ เป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ การเข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่น ๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติ (คนต่างชาติ)
ในวันเดียวกัน ข่าวกระทรวงแรงงานรายงานว่า พลเอกศริชัย ดิษฐกุล รมว.รง.ได้กล่าวถ้อยแถลงในวาระการประชุมเพื่ออภิปรายรายงานของผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่อง “การทำงานในภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง : ข้อริเริ่มสีเขียว” ณ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ความว่า
...ปีนี้ ILO ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระงานสีเขียว (Green Job) ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ประเทศไทยได้น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง (ของในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่าง ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยกว่า 7 ทศวรรษ ที่หลักการนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การสร้างงานที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงความยั่งยืนระยะยาว มากกว่าการแสวงหาประโยชน์โดยไม่รับผิดชอบในระยะสั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับ ILO ที่เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นจะต้องเป็นธรรม และครอบคลุม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างกลมกลืนกับเศรษฐกิจสีเขียว เป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอนาคตของเศรษฐกิจที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต และการจ้างงาน ตามปณิธานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งมั่นจะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรือง และต้องทำงานร่วมกับองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยที่ผ่านมานั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นไปสู่เศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตสูงและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้ทำงาน เพื่อให้มีความสามารถพร้อมรองรับเศรษฐกิจสีเขียว โดยการพัฒนาให้สามารถที่จะใช้วัสดุและสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับเศรษฐกิจและการผลิตสีเขียว นอกจากการมุ่งเน้นในการพัฒนาทุนมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับคุณค่าที่แท้จริงของความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ที่ไม่รับผิดชอบในระยะสั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นสำหรับการพัฒนาสังคมสีเขียว ซึ่งรัฐบาลได้นำมาเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไว้ด้วยแล้ว...
จากถ้อยแถลงข้างต้นสร้างความพึงพอใจแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมทั่วโลก พร้อมแสดงความยินดีที่ประเทศไทยมีทิศทางชัดเจนและเอาความริเริ่มสีเขียวแห่งศตวรรษไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอนาคตแห่งการทำงาน และการสอดส่องดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายว่าการก้าวไปข้างหน้าย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นที่ประจักษ์ต่อทั้ง ILO และสมาชิกไตรภาคีขององค์กร
ทั้งนี้ มีรายงานอีกว่า วันที่ 12 มิถุนายน 2560 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะประศาสน์การ ซึ่งจากการลงคะแนนเพื่อเลือกผู้แทนเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดของ ILO ในตำแหน่งสมาชิกประจำ (Regular Member) สำหรับวาระปี 2560 – 2563 ปรากฏว่าประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากการทำงาน ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน 230 เสียง จากผู้แทนฝ่ายรัฐบาลที่เข้าร่วมลงคะแนน 251 เสียง
คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารองค์การแรงงานระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีบทบาทนำในอนุภูมิภาคอาเซียน ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในกรอบเวทีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่การประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 330 ในวันที่ 17 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป
ที่มา: voicelabour.org
Post Views: 52